ข้อกฎหมาย ที่คนไทยในต่างแดนควรรู้

20 ก.ค. 2562 | 08:00 น.

หลังจากที่ผู้เขียนได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกทางกฎหมายจากประเทศอังกฤษ ก็ได้กลับเข้ารับราชการในสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา (สพภ.) สำนักงานอัยการสูงสุด โดยในระหว่างวันที่ 5-16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานได้ร่วมกับสำนักงานคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ในการเดินทางไปให้ความรู้และเปิดคลินิกกฎหมายเพื่อให้คำปรึกษากับคนไทยที่อยู่ในอังกฤษและเบลเยียม การทำกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นที่วัดไทยตามเมืองต่างๆ เพราะสำหรับคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศแล้วนั้น วัดเปรียบเสมือนเป็นบ้านที่ 2 ของคนส่วนใหญ่ก็ว่าได้

การเดินทางไปทำกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากคณะจะได้บรรยายให้ความรู้ทางกฎหมายที่จำเป็นต่อคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศในหลายประเด็นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัญชาติ สิทธิในทรัพย์สิน เรื่องการสมรส เรื่องการเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหากรณีมีความรุนแรงในครอบครัวในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี ทรงสนพระทัยและให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

นอกจากนี้ทางคณะยังได้เปิดคลินิกตอบปัญหา ข้อข้องใจในประเด็นทางกฎหมายให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมกิจกรรม โดยจัดให้มีการปรึกษาแบบส่วนตัว เพื่อจะได้เล่าข้อเท็จจริงได้ครบซึ่งจะทำให้อัยการทุกคนที่เข้าร่วมเดินทางในครั้งนี้ สามารถที่จะให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ทางคณะได้มีการนัดพบกับหน่วยงานภายในประเทศของทั้งอังกฤษและเบลเยียม ที่ดำเนินการให้ความช่วยเหลือหญิงไทยอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งบางกลุ่มเช่น เครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร (Thai Women Network in the UK) ซึ่งเป็นคนไทยที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยที่มาอยู่ UK แจ้งกับทางคณะว่า มีปัญหาในการดำเนินการในหลายส่วนไม่ว่าจะเป็นการที่กลุ่มของตนไม่มีผู้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายทั้งของไทย และของอังกฤษ ทำให้การติดต่อกับหน่วยงานภายในประเทศอังกฤษทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้เนื่องจากกลุ่มยังไม่เป็นที่รู้จัก หรือยังไม่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายในหรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ทำให้มีอุปสรรคในการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือหญิงไทยในหลายกรณี

 

ข้อกฎหมาย  ที่คนไทยในต่างแดนควรรู้

 

นอกจากนี้การที่สำนักงานกิจการและโครงการพระดำริฯ ได้เข้าพบกับผู้อำนวยการพร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม Oasis ของเบลเยียม ที่เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้หญิงและเด็ก โดย Oasis กำลังดำเนินโครงการในการช่วยเหลือผู้หญิงไทยอยู่ด้วย ทำให้ทราบถึงปัญหาทางปฏิบัติที่อาจทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหญิงไทยที่มีปัญหาจากความรุนแรงได้ในบางกรณี

 

เช่น หากหญิงไทยถูกสามีทำร้าย แล้วหนีออกจากบ้านไปอาศัยอยู่วัด เป็นการชั่วคราวก่อนจะไปแจ้งให้ทางการของเบลเยียมทราบ ทางการจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือหญิงไทยคนดังกล่าวได้ เนื่องจากมีสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับหญิงแล้ว ซึ่งตรงกันกับกลุ่มเครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร ที่ช่วยตามหาศพหญิงไร้ญาติที่เสียชีวิตและถูกนำไปฝังบนภูเขา จนสามารถพิสูจน์ได้ว่าหญิงคนดังกล่าวเป็นคนไทย ที่ได้ให้ข้อมูลในทำนองเดียวกันว่าหากหญิงไทยต้องการได้รับความช่วยเหลือจาก Women’s Aid เมื่อมีปัญหาหรือออกจากบ้านเนื่องจากเหตุความรุนแรงในครอบครัว ต้องไปติดต่อหน่วยงานดังกล่าวก่อน หากติดต่อวัด หรือไปอยู่บ้านของคนไทยคนอื่นก่อน หน่วยงานดังกล่าวจะไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพราะขัดกับข้อกำหนดของหน่วยงาน ซึ่งคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศไม่ทราบเรื่องนี้ และทำให้เป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้ได้รับการช่วยเหลือ

 

อีกประเด็นปัญหาที่พบมากที่สุดในการทำกิจกรรมครั้งนี้คือ เรื่องเกณฑ์ทหารของลูกครึ่งที่พ่อหรือแม่เป็นต่างด้าว แล้วได้ 2 สัญชาติ เหตุที่น่าเป็นห่วงเพราะ คนไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ากฎหมายไทยไม่ได้อนุญาตให้เด็กไทยถือ 2 สัญชาติ เหมือนอย่างกฎหมายของอังกฤษและเบลเยียม เพราะในพระราชบัญญัติว่าด้วยสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 14 ว่าหลักว่า ผู้มีสัญชาติไทยซึ่งเกิดในขณะที่บิดาหรือมารดาต่างด้าว และได้สัญชาตินั้นด้วย เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วยังอยากถือสัญชาติต่างประเทศ ให้สละสัญชาติไทย 

นั่นหมายความว่า เด็กไทยที่เป็นลูกครึ่งต้องเลือกว่าจะถือสัญชาติใดสัญชาติหนึ่ง ไม่สามารถถือ 2 สัญชาติได้

แต่ในทางปฏิบัติเด็กไทยที่เป็นลูกครึ่งเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการสละสัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด ซึ่งอาจจะมาจากปัญหาความไม่รู้ถึงข้อกำหนดของกฎหมาย หรืออาจเป็นเพราะต้องการได้รับประโยชน์ของการถือ 2​ สัญชาติ เนื่องจากทำให้สามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้สะดวกกว่า และสิทธิในการถือครองอสังหาริมทรัพย์ในกรณีรับทรัพย์มรดกของพ่อหรือแม่ที่มีทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทยก็ยังสามารถทำ ได้ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นการขัดกับบทบัญญัติของกฎหมาย

 

ข้อกฎหมาย  ที่คนไทยในต่างแดนควรรู้

 

ประเด็นที่ผู้เขียนกังวลเกี่ยวกับเรื่องการที่ลูกครึ่งไทยถือ 2 สัญชาติคือ การแบกรับหน้าที่ในฐานะผู้มีสัญชาติของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะเรื่องของการเกณฑ์ทหาร เพราะเมื่อเป็นคนชาติของทั้ง 2 รัฐ หน้าที่ใดที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ย่อมผูกพันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ปัญหาที่ผู้เขียนเคยพบคือ ลูกครึ่งไทย-สวิตเซอร์แลนด์ ถือ2 สัญชาติ เนื่องจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กำหนดให้ชายต้องเข้ารับราชการทหารทุกปีตั้งแต่อายุ 18-50 ปี เมื่ออายุถึง 21 ปี ที่บ้านของลูกครึ่งคนนี้รับหมายเรียกเกณฑ์ทหารที่ส่งมาให้ที่บ้านที่ประเทศไทย แต่เมื่อถึงวันเกณฑ์ทหารแล้ว ปรากฏว่าไม่สามารถเข้ารับการเกณฑ์ทหารตามกำหนดได้ เพราะยังฝึกอยู่ในค่ายทหารที่ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ ทำให้เมื่อเดินทางกลับไทยแล้วถูกดำเนินคดีในข้อหาหนีทหาร ทั้งที่ไม่ได้มีเจตนาหนีทหาร เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าความไม่รู้กฎหมายของคนไทยในต่างแดน นำมาซึ่งปัญหาในการใช้ชีวิตไม่น้อย

ก่อนเดินทางกลับไทยทางคณะอัยการได้เข้าพบ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูต และเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูตไทยในเบลเยียม โดยได้นำเสนอถึงปัญหาที่พบในระหว่างการทำกิจกรรมครั้งนี้ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาที่เกี่ยวกับสัญชาติ และความไม่รู้ถึงสิทธิที่กฎหมายรับรองให้กับคนไทยที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในเบลเยียม เพื่อให้ทางสถานทูตได้ให้ความรู้ในเรื่องนี้กับคนไทยที่อยู่ในเบลเยียม รวมถึงการร่วมมือและสนับสนุนกับเครือข่ายอย่าง Oasis เพื่อให้ความช่วยเหลือกับคนไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศซึ่งเป็นการเสริมการทำภารกิจหลักของทางสถานทูตต่อไป 

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย

โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3489 ระหว่างวันที่ 21 - 24 กรกฎาคม 2562

ข้อกฎหมาย  ที่คนไทยในต่างแดนควรรู้