เร่งคลอดงบประมาณปี63 เดินหน้าประเทศ

10 ก.ค. 2562 | 05:50 น.

หลังเลือกตั้ง ผ่านมาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน วันที่ 8 กรกฎาคม 2562 รวม 3 เดือน 14 วัน เข้าไปแล้ว ก็มีแต่คำถามเซ็งแซ่ว่า เมื่อไรจะได้เห็นคณะรัฐมนตรี(ครม.) ใหม่สักที? 

เพราะอยากเห็นการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อมาบริหารประเทศเสียที ในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เผยโผครม.ออกมาและประกาศว่ากลางเดือนกรกฎาคม 2562 จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณคณะรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าจะเป็นรัฐบาล “บิ๊กตู่ 2” 

ส่วนสำคัญที่ใครๆ ก็รอคอย คือ เงินๆ ทองๆ ของรัฐบาล เพื่อนำมาพัฒนาประเทศทุกภาคส่วน 

ถือว่าเป็นงานหินชิ้นแรกของรัฐบาล เนื่องเพราะความล่าช้า ที่น่าจะถือว่ายาวนานทีเดียวสำหรับการจัดสรรตำแหน่งพรรคร่วมรัฐบาล ที่ว่ากันว่า หมิ่นเหม่แบบปริ่มนํ้า

ความล่าช้ายืดยาวถึงกว่า 3 เดือน  ย่อมมีผลต่อการพิจารณา พ.ร.บ. ร่างงบประมาณประจำปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะถูกเลื่อนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2563 โดยงบประมาณประจำปีได้รับอนุมัติจำนวน 3,200,000 ล้านบาท

ในจังหวะที่สถานการณ์ปัญหาต่างๆ ของบ้านเมืองขณะนี้ ไม่มีเวลารอนาน 

โดยเฉพาะสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ชะลอตัวอย่างแรง  ที่สุดก็ต้องกระเทือนถึงปากท้องชาวบ้าน

นักธุรกิจเริ่มออกมาบ่น แบงก์ชาติเริ่มออกมาเตือนว่า ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า เศรษฐกิจจะยิ่งดิ่งเหว  ต้องรอเงินงบประมาณเพื่อให้ไหลเข้าระบบ

เร่งคลอดงบประมาณปี63 เดินหน้าประเทศ

ขณะนี้เศรษฐกิจไทยโดยรวมถือว่าอยู่ขาลง ในด้านธุรกิจจะเห็นได้ว่าต่างชะลอทั้งนั้นเปรียบเหมือนการขับรถ ตอนนี้ต้องแตะเบรกอย่างเดียวก่อน ยังไม่สามารถเหยียบคันเร่งได้ เพราะการทำธุรกิจมีตัวแปรมาก ทั้งภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาการเมือง และเศรษฐกิจโลกด้วย

สิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรดำเนินการคือ การออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้าให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการจับจ่ายสินค้าโดยเร็ว รวมทั้งดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่ในระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป เพราะที่ผ่านมาการจัดตั้งรัฐบาลมีการยืดเยื้อ หากยังยืดเยื้อต่อไปอีกอาจทำให้ไทย   สูญเสียโอกาส นักลงทุนใหม่ๆ ที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยเปลี่ยนใจย้ายไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม อินโดนีเซีย และเมียนมาแทน

มีการประเมินว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้าจะกระทบกับ งบลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐอาจจะช้ากว่าที่ควรจะเป็นกว่า 7-8  หมื่นล้านบาท  ผลของความล่าช้านั้นทำให้การเบิกจ่ายงบการลงทุนของภาครัฐจะไม่สามารถทำได้ จะดำเนินการได้เพียงงบประมาณรายจ่ายประจำและงบผูกพันเท่านั้น

แต่เชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่นิ่งนอนใจ คงต้องเร่งไม่ให้งบประมาณล่าช้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อการเบิกจ่ายเงินงบลงทุน และเศรษฐกิจ

อย่าลืมว่า งบประมาณไม่ออก ประเทศเดินหน้าไม่ได้

เร่งคลอดงบประมาณปี63 เดินหน้าประเทศ

นอกจากนี้ ต้องติดตามนโยบายใหม่ของรัฐบาลบิ๊กตู่ 2 อย่างเป็นทางการจะมีเนื้อหาสาระอย่างไรและเพียงใดนั้น จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายห่วงใย กำลังเฝ้ามองดูไม่กะพริบตาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะจัดการกับนโยบายขายฝัน ขายฝาก ประชารัฐหรือรัฐสวัสดิการที่แต่ละพรรคการเมืองงัดออกมาสร้างคะแนนนิยมในช่วงหาเสียง จะมามัดรวมกันให้เป็นเนื้อเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้อย่างไร

ฝากลุงตู่ พายเรือ พารัฐนาวาไปให้ถึงฝั่งครบ 4 ปี ที่สำคัญขอฝากไว้ว่าประชาธิปไตยนั้นกินไม่ได้สำหรับชาวบ้าน ถ้าพวกเขายังหิว อย่าให้เขารู้สึกถูกทอดทิ้ง ผิดหวัง จะเกิดปัญหาบานปลายได้

ขอให้โชคดี 

เปิดงบฯรายจ่ายปี63 รับรัฐบาลใหม่

สำหรับรายละเอียดการปรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวน เพิ่มเติม และยืนยันคำของบประมาณให้สำนักงบประมาณภายในเดือนกรกฎาคม จากนั้นสำนักงบประมาณจะเสนอให้ ครม.ใหม่พิจารณา และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาวาระที่ 1 ปลายเดือนกันยายน และวาระที่ 2-3 ต้นเดือนธันวาคม ก่อนเสนอวุฒิสภากลางเดือนธันวาคมจากนั้นจึงจะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ต่อไป

ทั้งนี้วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลประยุทธ์ 1 มีมติเห็นชอบจำนวน 3,200,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% ซึ่งอยู่ที่ 2แสนล้านบาท จากปีงบประมาณ 2562

โดยมีโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 2,358,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.8% จากปีงบประมาณ 2562 หรือคิดเป็น 73.7% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 62,709.5 ล้านบาท คิดเป็น 2% ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุน 691,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีงบประมาณ 2562 หรือคิดเป็น 21.6% ของวงเงินงบประมาณ

รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 87,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากปีงบประมาณ 2562 หรือคิดเป็นสัดส่วน 2.7% ของวงเงินงบประมาณ  

ขณะที่รายได้สุทธิจำนวน 2,750,000 ล้านบาทเป็นงบประมาณขาดดุล 450,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2562 และคิดเป็นสัดส่วน 2.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 

ทั้งนี้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ได้ตั้งอยู่บนสมมติฐานทางเศรษฐกิจไทย ที่คาดว่าในปี 2563 จะขยายตัว 3.5-4.5% และงบดังกล่าวยังเท่ากับกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลางปีงบประมาณ 2563-2565 ตามที่ ครม. ได้มีมติเห็นชอบไปแล้ว

จึงอยากฝากความหวังไปยังรัฐบาลใหม่ การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ต้องให้เกิดความเชื่อมโยงทั่วถึงประชาชนทุกมิติ 

ปฏิกิริยา โดย บิ๊กอ๊อด ปากพนัง

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3486 ระหว่างวันที่ 11 - 13 กรกฎาคม 2562

เร่งคลอดงบประมาณปี63 เดินหน้าประเทศ