วิกฤติ “WTO” ถึง”อวสาน”ถ้าไม่ปฏิรูป

04 ก.ค. 2562 | 13:36 น.

 

วิกฤติ “WTO” ถึง”อวสาน”ถ้าไม่ปฏิรูป

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้เห็นและได้ยินข่าวสารหรือกิจกรรมขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่ออกมาทางสื่อต่าง ๆ มากนัก แม้แต่ชื่อของผู้อำนวยการ WTO คนล่าสุดก็ไม่ค่อยเป็นข่าวเช่นกัน แต่ WTO กลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อการประชุม “G20” ทั้งการประชุมในปี 2561 (ที่อาร์เจนตินา) และปี 2562 (ที่ญี่ปุ่น) ซึ่งการประชุมมีการพูดถึง WTO ที่ว่าต้อง“การปฎิรูป WTO”

เหตุผลกลใดที่ทำให้ประเทศต่างๆ เห็นพ้องต้องกันว่าถึงเวลาแล้วที่ต้อง “ยกเครื่อง WTO” อย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้น WTO จะกลายเป็น “เสือกระดาษ หรือ ยักษ์ไม่มีกระบอง” ทำให้กลายเป็นการพิพาททางการค้าของโลกตามมา

วิกฤติ “WTO” ถึง”อวสาน”ถ้าไม่ปฏิรูป

สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จะไม่เกิดขึ้นเลย หาก WTO มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิก”

บทความนี้จะขยายความให้ท่านผู้อ่านได้ทราบครับว่า “ทำไม WTO ถึงวิกฤติ” ตั้งแต่ปี 1995 (2538) ที่ WTO ตั้งมา จนถึงขณะนี้มีอายุ 24 ปี องค์กรหนึ่งองค์กรใด หากไม่มีการปรับตัว ก็จะไม่ทันการเปลี่ยนแปลง

แรงจุดประกายของการปฏิรูป WTO เริ่มมาจาก นโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของ WTO  นั่นคือไม่เห็นด้วยการการค้าแบบหลายประเทศ หรือที่เรียกว่า   “การสร้างความร่วมมือระหว่างกันแบบพหุภาคี (Multilateralism)”  แต่หันไปเจราจาการค้าแบบทวิภาคี (Bilateralism) แทน รวมถึงการใช้กฎหมายภายในประเทศเล่นงานคู่ค้าที่มองว่าเอาเปรียบตนเอง เช่น มาตรา 301 (ภายใต้ Trade Act of 1974 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีตอบโต้ประเทศคู่ค้า) มาตรา 301 เป็นกฎหมายที่มีความขัดแย้งสูงมากในช่วงทศวรรษที่ 1990 เพราะนักวิชาการสหรัฐฯ ทูตหลายประเทศไม่เห็นด้วย (Aileen Kwa and Peter Lunenborg, “US’ Section 301 Actions : Why They are Illegitimate and Misguided”, 2018) และมาตรา 232 (ภายใต้ Trade Expansion Act 1962 ที่ให้อำนาจประธานาธิบดีขึ้นภาษีนำเข้า)

วิกฤติ “WTO” ถึง”อวสาน”ถ้าไม่ปฏิรูป

“ทำไมต้องปฎิรูป WTO” เพราะ 1.จีนและประเทศกำลังพัฒนาได้ขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว WTO ไม่ได้คิดกติกาที่ยืดหยุ่นรองรับอุตสาหกรรมของจีนที่ผลิตอย่างมากมาย (Overcapacity) ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ และยุโรปศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศลดลง 2.ประเด็นใหม่ของโลกเพิ่มขึ้น อย่างรวดเร็ว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การค้าชายแดน การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ความเข้มแข็งของรัฐวิสาหกิจ (SOE) การบิดเบือนการตลาดโดยการสนับสนุนภายในประเทศในภาคอุตสาหกรรม กฎหมายภายในประเทศเพื่อบังคับให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี 3.WTO มีอำนาจการบังคับแค่ไหน หากกฎหมายภายในทั้งของจีนและสหรัฐฯ ไม่สอดคล้องกับกติกาของ WTO

เมื่อเป็นดังนี้  สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป รวมถึงจีน จึงมีจุดยืนต่อการปฏิรูป WTO ดังนี้ จุดยืนยุโรป คือ 1.การสร้างกติกาใหม่โดยปรับปรุงระเบียบให้มีความโปร่งใสในประเด็นการสนับสนุนเงินของรัฐวิสาหกิจ สร้างกติกาใหม่ที่มีการกีดกันภาคบริการ การลงทุน และการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.การติดตาม : มีคณะกรรมการติดตามผลประเด็นการค้า 3.ตั้งผู้แทนข้อพิพาท : ให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งคณะกรรมการข้อพิพาททางการค้า กติกาเพื่อการค้าแบบดิจิทัล

 

ในขณะที่ จุดยืนสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับ 1.การแก้ปัญหาข้อพิพาทของ WTO 2.การขโมยทรัพย์สินทางปัญญา การอุดหนุนภาคการผลิต ส่วน จุดยืนจีน 1.ให้ความสำคัญกับการค้าแบบพาหุภาคี ที่ไม่มีความลำเอียง 2.ปกป้องผลประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนา 3.กฎระเบียบต้องออกมาจากการลงมติเอกฉันท์จากประเทศสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศกำลังพัฒนา ไม่ควรให้บางประเทศมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกติกาของ WTO

วิกฤติ “WTO” ถึง”อวสาน”ถ้าไม่ปฏิรูป

ถึงเวลาแล้วที่ WTO ต้องกล้าตัดสินใจ ที่มาข้อพิพาททางการค้า เช่น มาตรา 301 และ 232 ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันข้อกล่าวหาสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในประเด็นกฎหมายและระเบียบจีนที่บิดเบือนกลไกตลาดนั้นมีข้อเท็จจริงเพียงใด รวมไปถึงข้อเสนอให้ปฏิรูป        WTO ที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จะทำอย่างไรให้ไปในทิศทางเดียวกัน หากไม่รีบดำเนินการโดยด่วน WTO น่าจะถึง “กาลอวสาน”  ครับ