ภัยร้ายไซเบอร์ ที่เด็กไทยยังไร้กฎหมายคุ้มครอง

30 มิ.ย. 2562 | 02:00 น.

ในโลกยุคปัจจุบันผู้คนใช้เวลาในโลกเสมือนจริง หลายต่อหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่เชื่อลองถามตัวท่านดูว่า ตลอดระยะเวลา 1 วันท่านหมดเวลาไปกับการอ่านข้อความในแอพพลิเคชัน Line, Facebook, Twitter, YouTube หรือดู Instagram ร่วมกันเป็นเวลาเท่าไหร่ ผมเชื่อว่าหลายท่านใช้เวลาไปกับโลกในสื่อออนไลน์หลายชั่วโมงต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่าในปัจจุบัน ลูกหลานที่เป็นเยาวชนของพวกเราก็ใช้เวลาไปกับเรื่องนี้ไม่น้อยเช่นกัน

จากที่เราทราบกันดีว่าในโลกยุคที่เทคโนโลยีมีสิ่งล่อตาล่อใจเด็กและเยาวชนให้ไปทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรได้ง่ายขึ้น ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยดูแลลูกตัวเองด้วยการให้ลูกหลานของตัวเองอยู่บ้าน เพราะคิดว่าเขาเหล่านั้นยังคงอยู่ในสายตา อันตรายที่จะเกิดกับลูกหลานของท่านไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ การถูกข่มเหง รังแก หรือถูกคุกคาม รวมไปจนถึงการถูกข่มขืน จะไม่เกิดขึ้นหากในยามคํ่าคืน ลูกหลานของท่านไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน

ความเชื่อแบบนี้ยังมีอยู่ไม่น้อยในสังคม โดยที่ท่านลืมไปว่าหลังจากที่ลูกหลานของท่านคล้อยหลังเข้าห้องนอนของเขาแล้ว ก็ไม่ต่างจากการที่เขาออกไปนอกบ้าน เพราะเขาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ก่อนนอนไปกับโลกออนไลน์ ซึ่งโลกดังกล่าวแม้จะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเรียนรู้ แต่ในขณะเดียวกันโลกไซเบอร์ก็เปิดโอกาสให้มีบุคคลอื่นมาทำร้ายลูกหลานเราได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการข่มเหงออนไลน์ ที่มีการส่งข้อความหรือรูปภาพที่ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัว อับอาย เจ็บปวด ถูกข่มขู่ เป็นต้น ซึ่งการกระทำในลักษณะดังกล่าว ในต่างประเทศจะเรียกการกระทำประเภทนี้ว่า Cyberbulling

ภัยร้ายไซเบอร์  ที่เด็กไทยยังไร้กฎหมายคุ้มครอง

นอกจากนี้ บุคคลภายนอกยังอาจติดต่อสื่อสารลูกหลานเราด้วยวิธีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศ (Sexting) จนอาจเลยเถิดไปถึงการล่อลวงโดยนัดหมายผ่านสื่อออนไลน์เพื่อพบกับลูกหลานของเราได้ หรือที่เรียกว่า Online Grooming ซึ่งก่อนที่ผู้กระทำจะลงมือทำอาจใช้วิธีการเข้ามาสืบค้นข้อมูลออนไลน์ในลักษณะที่เป็นการรบกวนความเป็นส่วนตัว หรือวิธีการอื่นใดที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคาม ซึ่งเข้าลักษณะของ Cyberstalking ซึ่งการกระทำทั้ง 4 รูปแบบที่กล่าวมานี้ ในหลายประเทศได้มีกฎหมายเฉพาะเอาผิดกับการกระทำดังกล่าว เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ถูกกระทำแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีเครื่องมือทางกฎหมายที่จะนำมาจัดการกับภัยร้ายเหล่านี้โดยตรง

จากการศึกษาของ ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช และ รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ ที่ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาและเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ พบสถิติที่ได้จากการจัดเก็บข้อมูลจากนักเรียนอายุ 9-18 ปี จากทั้ง 77 จังหวัด จำนวนทั้งสิ้น 10,846 ปรากฏว่ามีสถิติหลายตัวที่สร้างความกังวลกับผู้เขียนไม่น้อย เช่น เด็ก 70% เชื่อว่าเพื่อนมีพฤติกรรมเสี่ยงภัยออนไลน์แบบใดแบบหนึ่ง เด็ก 50% เคยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์

ภัยร้ายไซเบอร์  ที่เด็กไทยยังไร้กฎหมายคุ้มครอง

เด็ก 30% ยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งคนอื่นออนไลน์ เด็ก 70% บอกว่าเคยเห็นสื่อลามกอนาจารออนไลน์ และ 20% ของเด็กที่เคยเห็นสื่อลามกออนไลน์เคยเห็นภาพลามกอนาจารเด็ก เด็ก 20% ยอมรับว่าเคยพูดคุย หรือรับส่งข้อความที่มีเนื้อหาการ กระทำทางเพศกับเพื่อนออนไลน์ รวมไปถึงเคยส่งภาพ วิดีโอการ กระทำทางเพศไปให้คนอื่น นอกจากนี้ 20% ของเด็กผู้ชายนัดพบเพื่อนออนไลน์ ในขณะที่เด็กผู้หญิงมีอัตราการนัดพบ เพื่อนออนไลน์อยู่ที่ 10%

สถิติต่างๆ ที่กล่าวมานี้คงพอสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าบ้านเรากำลังเผชิญปัญหากับการกระทำที่อยู่บนโลกออนไลน์ ซึ่งมันสามารถเกิดกับลูกหลานของเราได้ แม้เขาจะอยู่กับเราในบ้านตลอดเวลาก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ผมว่าเราควรต้องมาหาทางช่วยกันแก้ไข

 

หลังจากที่ผมสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษและได้เดินทางกลับไทยเป็นการถาวร โดยก่อนจะเดินทางกลับได้เคยมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับ Online Grooming และเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปพร้อมกับเรื่อง Child Sex Tourism แล้ว แต่กฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวก็ยังไม่ผ่านการพิจารณาจนประกาศออกเป็นกฎหมายแต่อย่างใด

หลังจากเดินทางกลับถึงประเทศไทย ผู้เขียนได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็ก ให้เป็นไปตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งเป็นคณะที่ทำงานให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อจัดให้มีกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กในเรื่องนี้ โดยในคณะทำงานย่อยที่ยกร่างกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด โดยการใช้สื่อออนไลน์ ได้มีการทำงานร่วมกันจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา เพื่อให้มีมุมมองต่อการยกร่างกฎหมายให้ได้ครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด

 

เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่ยังไม่เคยมีในประเทศไทย และการจะนำตัวอย่างจากกฎหมายต่างประเทศมาใช้เป็นแนวทางยกร่างโดยไม่คำนึงถึงบริบทของสังคมไทยคงทำไม่ได้ ทางคณะผู้จัดทำร่างกฎหมาย ที่ได้มีการวางโครงร่างของตัวกฎหมาย ประกอบกับการยกร่างบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษไว้เป็นสารตั้งต้น จะได้นำร่างดังกล่าวมาเป็นโครงในการที่จะให้ผู้เชี่ยวชาญในวงที่กว้างขึ้นประมาณ 40 ท่านวิจารณ์ เพื่อที่จะได้นำมาปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งอาจมีการยกร่างไปถึงมาตรการพิเศษที่จะใช้ในการรักษาเยียวยา และฟื้นฟูทั้งเหยื่อและผู้กระทำผิด เพื่อลดความรุนแรงของปัญหานี้ในสังคมไทยเราลงไปได้บ้าง

การเสวนารับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้ จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน 2562 ที่โรงแรมบางกอกพาเลซ โดยผู้เขียนในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้จะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว

แม้ตอนนี้บ้านเราจะยังไม่มีกฎหมายนี้ก็ตาม แต่อย่างน้อยตอนนี้ผมก็เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพราะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความสนใจกับภัยร้ายไซเบอร์ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเรา หากมีความคืบหน้าเกี่ยวกับร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างไร ผมจะหาโอกาสมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งครับ 

รู้เท่าทัน สารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3483 ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2562

ภัยร้ายไซเบอร์  ที่เด็กไทยยังไร้กฎหมายคุ้มครอง