จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20” กับประเด็นร้อนการค้าโลก

27 มิ.ย. 2562 | 08:04 น.

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ผมได้รับเชิญจากช่อง 11 “NBT” ให้เป็นวิทยากรวิเคราะห์ “การประชุมสุดยอดอาเซียน(ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน 2562”  ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก ซึ่งในปีนี้ใช้หัวข้อว่า “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ผมมีโอกาสนั่งฟังนายกรัฐมนตรีไทย (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) สรุปผลการประชุมจากผู้นำอาเซียน ได้จับประเด็นสำคัญที่น่าสนใจได้หลายประเด็น ซึ่งแต่ละประเด็นผมขอขยายความตามมุมมองของผมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการค้าโลกดังนี้

1.การต่อสู้กับภัยพิบัติ และการเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญต่อการค้าโลกมากเพราะมีกระทบต่อภาคการผลิตโดยตรง โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ได้แก่ ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยแล้ง และภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในอนาคตถี่ขึ้นและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกและอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ FAO ออกรายงานเมื่อปี 2561 เรื่อง “Climate Change and Global Market Integration” ว่า ผลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจะทำให้ผลผลิตการเกษตรโลกลดลง 0.28% ในปี 2050 (กลุ่มพืชลดลง 0.66% ปศุสัตว์ลดลง 0.12% เกษตรแปรรูปลดลง 0.16% และปลาลดลง 0.03%) จะส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น 2.6% กลุ่มประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้จะได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุด ประเทศอาเซียน GDP ลดลง 0.3% ซึ่งจะทำให้รายได้ของภาคเกษตรกรรมลดลงตามไปด้วย

2.การปรับตัวและผลักดันอุตสาหกรรม 4.0 และเศรษฐกิจดิจิทัล เกือบทุกประเทศในอาเซียนมีเป้าหมายการเป็น “อุตสาหกรรม 4.0” ซึ่งไปเกี่ยวข้องการผลิตที่มีการใช้นวัติกรรม เทคโนโลยีและหุ่นยนต์ องค์ความรู้เหล่านี้ อาเซียนยังพึ่งพิงจากกลุ่มประเทศนอกอาเซียน เช่น จากญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ เป็นต้น ซึ่งรวมไปถึงการค้าขายออนไลน์ก็พึ่งพิงแพลตฟอร์มของจีนเป็นหลัก

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

ผมคิดว่าอาเซียนควรผลักดันการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน (ASEAN Cross Border E-Commerce) เพื่อให้คนอาเซียนซื้อขายสินค้ากันง่ายขึ้น โดยได้รับการยกเว้นหรือลดภาษีของแต่ละประเทศต่ำกว่าปกติ ใน 1 ปีไม่เกิน 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี (ไม่เกิน 1 แสนบาท)

 3.ปฎิญญากรุงเทพว่าด้วยการทิ้งขยะในทะเล เป็นประเด็นใหญ่และสำคัญมาก ธนาคารโลกรายงานว่า “ในปี 2025 โลกจะมีขยะเพิ่มขึ้นจาก 3.5 ล้านตัน เป็น 6 ล้านตันต่อวัน” ในปี 2559 คนทิ้งขยะ 0.74 กก.ต่อคนต่อวัน ผมคาดว่าปัจจุบันน่าจะไปถึง 1 กิโลกรัม(กก.)ต่อคนต่อวัน ซึ่งจะกระทบผลผลิตสัตว์น้ำธรรมชาติ

4.ผลักดันการเจรจาอาเซียนบวกหก (RCEP) ให้เสร็จในปี 2562 5.การแข่งขันระหว่างประเทศนอกภูมิภาค 6.ปี 2562 เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน และ 7.การเสนอตัวเพื่อเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2034

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

 

ขณะที่ในวันที่ 28-29 มิถุนายน 2562 จะมีการประชุม “G20 Summit” ที่มหานครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ประกอบด้วยประเทศอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน อียู ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย ซาอุฯ แอฟริกาใต้ ตุรกี อังกฤษ เม็กซิโก สหรัฐฯ ประเทศที่ได้รับเชิญคือ เนเธอร์แลนด์ สิงคโปร์ สเปน เวียดนาม ไทย อิยิปต์ ชิลี และเซเนกัล (สเปนถูกเชิญถาวร ประธานอาเซียน สองประเทศแอฟริกา และอีก 2 ประเทศตามที่ประธานเชิญ) นอกนั้นก็เป็นองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UN, IMF, World Bank, WTO, OECD, WHO และ ADB ซึ่งจัดประชุมใน 8 เมืองของญี่ปุ่น ประเทศ G20 มีขนาดเศรษฐกิจ (2017)  86% ของ GDP โลก (ใหญ่สุดของโลก)     77% ของการค้าโลก  และ  64% ของประชากรโลก (ประเทศ G7 มีขนาดเศรษฐกิจ 46% ของ GDP โลก 34% ของการค้าโลก และ 10% ประชากรโลก)

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

 

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

 การประชุม G20 จึงมีความสำคัญกับทุกประเทศในโลกนี้ เพราะการขยับไปทางไหนของประเทศ G20 จะกระทบต่ออาเซียนและทั่วโลก หัวข้อการประชุมในปีนี้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าโลกครอบคลุม 3 หัวข้อคือ 1.เศรษฐกิจเข้มแข็ง ยั่งยืน และสมดุล (Promoting strong, sustainable and balanced growth) ที่เน้น 1. ผลักดันสังคม 5.0 หรือ “Society 5.0”  หรือ “Super Smart Society” เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ  ผลักดันอุตสาหกรรมสุขภาพ ผ่านการใช้ AI, IoT, big data, และ robots อุตสาหกรรมการขนส่งที่ไร้คนขับ  โครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ sensors, AI and robots  เทคโนโลยีทางการเงิน ผ่านการปฎิรูปกติกา 2. ปฎิรูป WTO, Trade War, การผลักดัน Trans-Pacific Partnership (TPP) the Japan-EU Economic Partnership Agreement (EPA) the Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) และ 3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ ต้อง ปลอดภัย รองรับภัยพิบัติ สร้างงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี

จากอาเซียนซัมมิทสู่ “G20”  กับประเด็นร้อนการค้าโลก

 

2. จัดหาสินค้าสาธารณะระหว่างประเทศและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น (Greater provision of international public goods and resilience) ซึ่งประกอบด้วย ระบบประกันสุขภาพ จัดการภัยพิบัติและขยะในทะเล หลีกเลี่ยงกับดัก “Debt Trap” ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก สร้างความเท่าเทียมเพศ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ รวมถึงประเด็นสุดท้าย 3.เศรษฐกิจดิจิทัล (Digitalization of the economy) ที่ครอบคลุม Crypto-assets สร้างกฎระเบียบในยุคดิจิทัล และ การจ้างงานและเพิ่มประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่าทั้งสองการประชุมมีที่เหมือนกัน เศรษฐกิจดิจิทัลและการขจัดขยะ ในขณะที่แตกต่างแต่มีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและการค้าโลก เช่น ประเด็นสังคม 5.0 และความเท่าเทียบเรื่องเพศ ผมหวังว่าหัวข้อของทั้งสองประชุมสามารถนำเข้าไปเชื่อมโยงเพื่อจะเป็นประโยชน์ทั้งระดับภูมิภาคอาเซียนและโลกต่อไปครับ