“บุรุษไปรษณีย์“วาทะกรรมการเมือง

13 มิ.ย. 2562 | 10:41 น.

บุรุษไปรษณีย์กลายเป็นวาทะกรรมที่กระแทกเข้าใส่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทันที หลังจากที่เขาได้ลงนามในหนังสือส่งรายชื่อ41 ส.ส. ที่พรรคอนาคตใหม่เข้าชื่อให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ว่าเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่าด้วยการถือครองหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่ ให้ศาลรัฐธรรมวินิจฉัย

 

คำตอบของคำถามในเรื่องนี้ ไม่ได้ยากเกินไปที่คนทั่วไปจะค้นพบ เพียงแค่เปิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 82 ววรคแรก ก็จะพบคำตอบ เพราะเขียนไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความ ดังนี้

 

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา จํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่าสมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งแห่งสภานั้นสิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (3) (5) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (12) หรือมาตรา 111 (3) (4) (5) หรือ (7) แล้วแต่กรณี และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้อง ส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงหรือไม่”

ถึงตรงนี้พอจะเห็นภาพชัดเจนแล้วว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนว่า "ให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้อง ส่งคําร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ" จึงเป็นเรื่องที่นายชวนมิอาจปฏิเสธการทำหน้าที่ "นายไปรษณีย์"ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

“บุรุษไปรษณีย์“วาทะกรรมการเมือง

 

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องและมีคำสั่งให้ ส.ส. 41 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ในมาตรา 82 วรรคสองบัญญัติว่า

 

เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคําสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยและเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคําวินิจฉัยแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญแจ้งคําวินิจฉัยนั้นไปยังประธานแห่งสภาที่ได้รับคําร้องตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทําไปก่อนพ้นจากตําแหน่งมิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสองเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณี 41 ส.ส. เป็นเพียงข้อกล่าวหาที่พรรคอนาคตใหม่ ยื่นคำร้องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเท่านั้น ยังไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ กรณีนี้จึงต่างจากกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีการไต่สวนตรวจสอบข้อเท็จจริง

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้นายธนาธรยุติการปฏิบัติหน้าที่ส.ส.