ไขปริศนาหนี้ครัวเรือนไทย ทะยานติดTOP10โลก

09 มิ.ย. 2562 | 03:00 น.

ปัจจุบันการก่อหนี้ภาคครัวเรือนของคนไทยที่ทะยานอย่างมาก ทำให้ผู้กำกับดูแลนโยบายกำลังวิตกว่าจะกลายเป็นความเปราะบางของกำลังซื้อในประเทศและระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว อาจส่งผลต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และจะลุกลามไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ในที่สุด

เมื่อเปิดดูข้อมูลในรายงานภาวะสังคม ไตรมาส 1 ปี 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบข้อมูลที่น่าสนใจคือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย เป็นรองเพียงประเทศเกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดย สิ้นปี 2561 หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 12.1 ล้านล้านบาท สิ้นปี 2560 มาอยู่ที่ 12.8 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6% คิดเป็นสัดส่วน 78.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

นั่นหมายความว่าระยะเวลาแค่ปีเดียวคนก่อหนี้เพิ่มขึ้น 7 แสนล้านบาท และถ้าเอาตัวเลขหนี้ครัวเรือนโดยรวมมาหารเฉลี่ยกับจำนวนประชากรของไทยตามฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร สิ้นปี 2561 ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 66,413,979 คน นั่นหมายความว่าคนไทย 1 คนจะมีหนี้เฉลี่ยคนละ 2 แสนบาท

ขณะที่ในปีนี้แนวโน้มหนี้ครัวเรือนยังมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นอีก เพราะถ้าดูจากยอดคงค้างสินเชื่อรวมเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2562 เพิ่มขึ้นสูงถึง 10.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งสศช.วิเคราะห์ว่าเป็นผลจากการเร่งก่อหนี้ก่อนการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ (LTV) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 9.1% สอดคล้องกับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศในไตรมาสแรกของปี 2562 ที่ขยายตัว 13.5%

 

ไขปริศนาหนี้ครัวเรือนไทย  ทะยานติดTOP10โลก

 

นอกจากนี้ยังมาจากการก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์ จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ และการส่งเสริมการขายรถยนต์ในงาน Motor Show 2019 ทำให้สินเชื่อเพื่อการเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น 11.4% และมียอดจองรถยนต์นั่งส่วนบุคคลขยายตัว 12.3% และการเพิ่มขึ้นของการส่งเสริมการขาย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเงื่อนไขการผ่อนชำระที่จูงใจ เช่น ดอกเบี้ย 0% ทำให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ เพิ่มขึ้น 10.8%

แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มมีมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยออกมา พร้อมส่งสัญญาณว่าจะมีการออกกฎเพื่อควบคุมการก่อหนี้ในส่วนอื่นๆตามมา แต่จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูล เครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร พบว่าปัจจุบันมีคนไทย 28 ล้านคนที่มีหนี้กับสถาบันการเงิน ในจำนวนนี้มี 16-17 ล้านคน ที่มีประวัติการกู้สมํ่าเสมอ และในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยอดรวมสินเชื่อปล่อยใหม่ยังเพิ่มขึ้น 1.95 ล้านบัญชี จากสินเชื่อ 4 ประเภทคือ บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิตและส่วนบุคคล

ขณะที่ความสามารถในการชำระหนี้ของไทยวัดจากสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หรือหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป พบว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 0.8 แสนล้านบาท สิ้นปี 2557 เป็น 1.2 แสนล้านบาท สิ้นปี 2561 โดยหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ประเภทรถยนต์เร่งตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 24.1% ขณะที่ประเภทที่อยู่อาศัยและเพื่อบุคคลอื่นชะลอตัวลง 8% และ 7.2% ตามลำดับ แต่ยังอยู่ในระดับที่สูง

 

ไขปริศนาหนี้ครัวเรือนไทย  ทะยานติดTOP10โลก

ล่าสุดตัวเลขสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคในไตรมาส 1 ปี 2562 มีมูลค่า 126,356 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วน 2.75% ต่อสินเชื่อรวม และคิดเป็น 27.8% ต่อ NPL รวม สูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส หรือ 3 ปี 3 เดือน และมีสัดส่วนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในประเภทธุรกิจอื่น กลับมาสูงสุดในรอบ 2 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2560

ที่น่าเป็นห่วงมากกว่านั้นคือ สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ใน ตอนนี้คนหนุ่มคนสาว GEN Z หรือคนที่เกิดปี 2540 มีอายุตํ่ากว่า 22 ปีเป็นผู้กู้หน้าใหม่ ถือบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลแล้ว 1% เพราะเสพติดแคมเปญผ่อน 0%

คงถึงเวลาแล้วที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องออกมาตรการมาควบคุม หยุดพฤติกรรมก่อหนี้ภาค ครัวเรือน

ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3477 วันที่ 9-12 มิถุนายน 2562

ไขปริศนาหนี้ครัวเรือนไทย  ทะยานติดTOP10โลก