สงครามการค้าซีรีส์ยาว เศรษฐกิจจีน-มะกัน(อาการน่าเป็นห่วง)

06 มิ.ย. 2562 | 08:53 น.

สงครามการค้าซีรีส์ยาว เศรษฐกิจจีน-มะกัน(อาการน่าเป็นห่วง)

วันที่ 4 มิถุนายน 2562 ผมได้รับเชิญจากสโมสรไลออนส์นครหลวงกรุงเทพ ให้บรรยายเรื่อง “สงครามการค้าจบอย่างไร” ซึ่งผมเลือกบรรยายใน 2 หัวข้อคือ 1.ตั้งแต่เริ่มเก็บภาษีของทั้งสองประเทศ(สหรัฐฯ-จีน) เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศเป็นอย่างไร และ 2.แล้วสงครามการค้าจะจบอย่างไร

ผมขอเริ่มอย่างนี้ครับนายโดนัล ทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 หลังจากนั้น 2 วัน สหรัฐฯเก็บภาษีแผงโซลาร์เซลล์และเครื่องซักผ้าจีน งานแรกที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศคือการลงนาม  “คำสั่งพิเศษ (Executive Order) เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2560” เรื่อง "Omnibus Report on Significant Trade Deficits" สาระสำคัญต้องการจัดการการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลักๆ ได้แก่ 16 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลเยอะๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน เวียดนาม มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

ผมสามารถสรุปผลการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ผ่านทาง “Trade War สู่ Tech War” เป็นดังนี้ครับ 1.“ขึ้นภาษีนำเข้าไม่ช่วยแก้ปัญหา”ทรัมป์ต้องการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้ากับทั่วโลกและจีน แต่ปรากฎว่าหลังจากใช้มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้ากลับยิ่งทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับทั่วโลกและจีนหนักเพิ่มขึ้นไปอีก ในปี 2559 สหรัฐฯ ขาดดุลกับทั่วโลก 736,576 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 ขาดดุลเพิ่มเป็น 759,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2561 ขาดดุล 878,863 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสัดส่วน 50%  เป็นการขาดดุลกับประเทศจีน

สงครามการค้าซีรีส์ยาว เศรษฐกิจจีน-มะกัน(อาการน่าเป็นห่วง)

2. ดัชนีเศรษฐกิจทั้งสองประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง บริษัท JP Morgan คาดการณ์ว่า สงครามการค้าจะกระทบเศรษฐกิจจีน 0.4% และเศรษฐกิจสหรัฐฯ 0.2% ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) นาย Dan Hansan และ Tom Orlik คาดว่าสงครามการค้าจะกระทบมูลค่า GDP โลกลดลงไป 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2021(ปี 2564) ส่วนอัตราการขยายตัวการค้าโลกลดลงจากต้นปี 2561 จากระดับ 6% เหลือ 0.5% ในไตรมาส 1 ปี 2562 สำหรับอัตราขยายตัว  GDP จีนลดลงตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2560 จาก 6.9% เหลือ 6.4% ในไตรมาส 1 ปี 2562 ส่วนอัตราการขยายตัว GDP สหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอตัวมากนัก แต่เป็นไปในทิศทางแบบผันผวน เช่น ไตรมาส 2/2561 อยู่ที่ 4.2% ลดลงเหลือ 2.2% ในไตรมาส 4/2561 และปรับตัวเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 3.2% ในไตรมาส 1/2562 คาดว่าปรับลดลงเหลือ 2.1% ใน Q2/2562 (Wall Street Journal)

เมื่อหันไปดูอัตราการขยายตัวของ FDI ในประเทศจีนพบว่ามีอัตราการขยายตัวติดลบในไตรมาส 1/2562 เป็นต้นมา ส่วนอัตราการขยายตัวของ FDI แบบร่วมทุนติดลบตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และเงินลงทุนของจีนในสหรัฐฯ ลดลงตั้งแต่ปี 2560 เกือบ 50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนยอดขายปลีกของทั้งสองประเทศก็ลดลงตั้งแต่ปี 2561 โดยยอดขายปลีกของจีนลดลงมากกว่ายอดขายปลีกสหรัฐฯ ค่าเงินหยวนจีนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ตั้งแต่มกราคม 2561 ถึง มีนาคม 2562 อ่อนค่าไป 9% จาก 1 หยวนเท่ากับ 0.16 ดอลลาร์ไปอยู่ที่ 0.145 ดอลลาร์ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (MPI) ของจีนลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560

สงครามการค้าซีรีส์ยาว เศรษฐกิจจีน-มะกัน(อาการน่าเป็นห่วง)

3.กระทบต่ออุตสาหกรรมไอทีและเซมิคอนดักเตอร์โลก คำสั่งบริหารของทรัมป์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤษภาคม2562 ที่สั่งห้ามบริษัทสหรัฐฯ ซื้ออุปกรณ์ไอทีจากบริษัทต่างชาติที่มีผลต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั่นคือ “อุปกรณ์ไอทีหัวเว่ยและซัพพลายเออร์ 70 บริษัทที่เกี่ยวข้อง” ตามด้วยวันที่ 19 พฤษภาคม 2562 บริษัทกูเกิล ออกประกาศจำกัดการให้บริการแอนดรอยด์ (Android) Gmail และ Youtube กับสมาร์ทโฟน “หัวเว่ย” ผลดังกล่าวจะกระทบ 1.ห่วงโซ่การผลิตของหัวเว่ยทั่วโลก ทั้งจากจีน (Foxconn, O-Flem, SMIC และ BYD) สหรัฐฯ (Broadcom, Qualcom, Flex และ Intel) ญี่ปุ่น (Sony) ไต้หวัน (TSMC) และเกาหลีใต้ (SK Hynix) ซึ่งรวมมูลค่าห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด 52,000 ล้านหยวน (260,000 ล้านบาท)   2.ผู้ใช้หัวเว่ยทั่วโลกจะได้รับผลกระทบ ซึ่งไม่ใช่คนจีนที่ใช้หัวเว่ยในประเทศจีน เพราะปัจจุบันคนใช้หัวเว่ยทั่วโลก 200 ล้านเครื่อง สัดส่วน 50% เป็นคนจีนใช้ในประเทศจีน ซึ่งใช้แอพพลิเคชั่นของจีน (ในประเทศจีนไม่อนุญาตให้ใช้กูเกิล) 3.ผู้ใช้ “หัวเว่ย” ใหม่จะขาดความมั่นใจต่อหัวเว่ย เพราะไม่แน่ใจว่าจะสามารถอัพโหลดแอพพลิเคชั่นจากกูเกิลได้หรือไม่ 4.กูเกิลอาจจะต้องคิดหนัก เพราะในตลาดโลก สมาร์ทโฟนหัวเว่ยมีส่วนแบ่งตลาด 20% ในขณะที่สมาร์ทโฟนอื่น ๆ        ของแบนรด์จีน เช่น Xiami Vivo และ OPPO มีส่วนแบ่งตลาดรวม 20% ทำให้สมาร์ทโฟนจีนมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 40% ซึ่งสูงกว่าของสมาร์ทโฟนซัมซุงที่มีส่วนแบ่งตลาด 25% และไอโฟน 12% หากแบรนด์ของจีนรวมตัวกันไม่ใช้บริการของกูเกิล ผลกระทบจะไปอยู่ที่กูเกิลไม่ใช่หัวเว่ย

สงครามการค้าซีรีส์ยาว เศรษฐกิจจีน-มะกัน(อาการน่าเป็นห่วง)

4. “ส้มหล่นที่เวียดนาม” ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา FDI จีนในเวียดนามเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัวจาก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2,500 ล้านดอลลาร์ (ปี 2561) และ 4 เดือนแรกของปี 2562 จีนลงทุนในเวียดนามเป็นอันดับ 1  (จาก 51 ประเทศที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม) และเวียดนามสามารถส่งออกเพิ่มทั้งจีนและสหรัฐฯ อีกด้วย


แล้ว “สงครามการค้าจะจบอย่างไร”   นาย Wei Jianguo อดีตรัฐมนตรีพาณิชย์จีนคิดว่าสงครามการค้าจะต้องใช้เวลาถึง 30 ปี ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้เพราะว่า เหตุผลหลักของการมีข้อพิพาททางการค้าครั้งนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการขาดดุลการค้าเท่านั้น แต่เป็นเรื่องใหญ่มากที่ ”จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ลักลอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ” USTR ได้ออกรายงานอย่างน้อย 2 เรื่องที่พูดถึงเรื่องนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2561 เรื่อง “How China’s Economic Aggression Threatens the Technologies and Intellectual Property of the United States and the World” และอีกรายงานหนึ่งชื่อว่า “Finding of the Investigation into China’s Acts, Policies, and Practices Related to Technology Transfer, Intellectual Property, and Innovation under 301 of the Trade Act of 1974”

มาถึงตรงนี้ผมต้องบอกว่าสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีน “เป็นหนังซีรีส์เกาหลีที่ต้องดูกันอีกหลายตอน” ครับ