การเงินโลกวิปริตชัดๆ

28 มี.ค. 2559 | 00:00 น.
การเงินโลกเริ่มวิปริตต้องจับตาดูความเคลื่อนไหวให้ดี เพราะ BOJ แม้จะคงมาตรการ QE เท่าเดิม ผลก็ไม่แตกต่างกันกับกลุ่มธนาคารยุโรปที่ออกมาตรการต่างๆ ทั้งดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น ทั้งให้ธนาคารพาณิชย์มากู้เงินธนาคารเอาไปปล่อยหนี้ต่อ ซึ่งนอกเหนือไปจากใส่เงินเข้าไปเพิ่มแล้วอีกเดือนละ 20,000 ล้านยูโรเป็น 80,000 ล้านยูโรเพื่อซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลและเอกชน แต่สิ่งที่คาดหวังคือให้ค่าเงินยุโรปลดลง ต้องการให้เงินเยนลดค่าลง แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เพราะค่าเงินไม่ว่าสกุลยูโร สกุลเยน รวมทั้งค่าเงินนิวซีแลนด์ที่ออกมาตรการออกมาเช่นกัน ค่าเงินก็กลับแข็งค่าขึ้น หาได้อ่อนค่าลงตามวิถีที่ควรจะเป็นไม่ แต่ก็ดูเหมือนว่าจะใจเย็น เพราะเป้าหมายเขาอยู่ที่ภาวะเงินเฟ้อที่คาดหวังจะปรับตัวดีขึ้น เพื่อหนีให้พ้นจากการเผชิญหน้ากับภาวะเงินฝืดในยุโรป

ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้นับว่าเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อจริงๆ อย่างประเทศไทยเราเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เมื่อลดแล้วแทนที่ค่าเงินบาทจะลดลง กลับทำให้ค่าเงินบาทกลับพลิกตัวแข็งค่าขึ้น ถ้าเป็นอย่างที่ว่านี้จะทำอะไรก็ทำไม่ถูกเหมือนกัน เพราะขัดกับหลักพื้นฐาน หรือหากคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไป แต่ผลหลังจากนั้นค่าเงินบาทกลับอ่อนลงไปตามหลักการ อย่างนั้นก็น่าจะสะท้อนว่าพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความแตกต่างกับกลุ่มประเทศยุโรป เพราะเขามีพื้นฐานที่ไม่ดี หรือพอไปเปรียบกับแบงก์ชาติสหรัฐฯก็ได้ ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกลางสหรัฐฯให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิม แต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลยูโร ซึ่งนั่นหมายถึงความเป็นจริงของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาดีกว่ากลุ่มยุโรป

ที่ผ่านมาผมเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงใช้ความพยายามอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพเงินบาท จากที่ทยอยดูค่าเงินบาทลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งบางสถาบันการเงินในไทยและแวดวงวิชาการไทยเชื่อว่าอาจจะอ่อนเกิน 36-37 บาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2558 แต่เดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร? ค่าเงินบาทกลับวกกลับมาแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ และการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯไม่ใช่เรื่องดี เพราะเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจประเทศอยู่ที่การส่งออกสินค้า ถ้าค่าเงินบาทแข็งก็ยิ่งกระทบต่อการส่งออกของไทย

นั่นก็หมายถึงมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องขายเงินบาทเพื่อไม่ให้แข็งค่ามากขึ้น และอาจนำไปสู่การโจมตีค่าเงินบาทของไทยในอนาคตอันใกล้ได้ ลำพังการทยอยเข้ามาของเงินสกุลต่างๆ เพื่อลงทุนในตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย ก็มีโอกาสทำกำไรได้ทั้งจากดอกเบี้ยและจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่ดอกเบี้ยในตลาดหลักๆ อย่างยุโรป ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรปติดลบ คิดแล้วดอกเบี้ยไทยยังให้ราคาดีกว่ามาก แล้วทำไมจะไม่เข้ามา และหากต้องการจะสกัดการไหลเข้าของเงินต่างประเทศก็ต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่เราจะลดลงพรวดพราดเท่ากับ BOJ หรือ อีซีบียุโรปได้หรือ ผมว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าลดก็ลดได้เพียงเล็กน้อย แต่การลดเพียงเล็กน้อยจะมีประโยชน์อันใด เพราะอีกขาหนึ่งก็คือดอกเบี้ยเงินกู้ อย่างไรก็ยากที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ในไทยลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง แต่เงินฝากนั้นเป็นไปได้ที่จะสนองนโยบาย

ปกติแล้วค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เราแข็งขึ้นจะถือเป็นเรื่องดี เพราะสามารถนำเข้าสินค้าทุน เพียงแต่ว่าทุกวันนี้คงยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าอีกต่อไปแล้ว หรืออย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาอีกพักใหญ่ เพราะถ้าเอามาผลิตสินค้า สินค้าก็ขายส่งออกยาก เพราะกำลังซื้อทั่วโลกหดตัว ใครก็เผชิญปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยหรือซื้อสินค้าเพื่อการบริโภคก็ดูจะได้เปรียบหน่อย แต่ก็ยังดีเมื่อเทียบกับสกุลเยนและสกุลยูโรของเราก็ยังได้เปรียบอยู่ เรายังไปเที่ยว ไปจับจ่ายสินค้าของเขาได้

ที่สำคัญผมก็ไม่แน่ใจว่า หากไทยลดดอกเบี้ยนโยบายลงไปแล้ว ค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร จะเป็นไปตามหลักการปกติ คือ ลดดอกเบี้ยจะมีผลทำให้ค่าเงินบาทลด แต่หากลดไปแล้วแต่ค่าเงินไม่ลดลงไปด้วยกลับแข็งค่าขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไร เพราะสิ่งนี้ทั้งญี่ปุ่นและยุโรปกำลังประสบกับความวิปริตของค่าเงินอยู่ และยังไม่เห็นทางออกเลย ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,142 วันที่ 24 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2559