เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’

30 มี.ค. 2562 | 04:09 น.

คุยกับฐานทันทุกข่าวสาร แค่เพิ่มเราเป็นเพื่อน  LINE : @THANSETTAKIJ 
 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’

 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’
อนาคตทางการเมืองของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นกว่า 6.2 ล้านเสียง ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา กำลังไต่อยู่บนเส้นลวด

เมื่อมีการตรวจสอบพบว่าการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสารให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธรนั้น อาจขัดกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ”

 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’
แม้ต่อมานายธนาธรจะโพสต์ข้อความและเอกสารการโอนหุ้นชี้แจงถึงกรณีนี้ว่า เขาและภรรยาโอนหุ้นไปตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา 1 เดือนก่อนการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีปัญหาทางกฎหมายในเรื่องนี้

กรณีนี้ทำให้คนที่ติดตามการเมืองมาอย่างยาวนานหวนคิดถึงคดีซุกหุ้นภาค 1 ของนายทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย เมื่อปี 2544 จนกลายมาเป็น วลีโด่งดัง “บกพร่องโดยสุจริต” คดีนี้แม้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ ทักษิณ ชนะ ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง แต่ถ้าพลิกไปดูคำวินิจฉัยส่วนตัวของ นายประเสริฐ นาสกุล อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ล่วงลับ ในฐานะตุลาการเสียงข้างน้อยในคดีนี้ มีหลายประเด็นน่าสนใจ ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไปแล้ว แต่เมื่อย้อนกลับมาอ่านสิ่งที่นายประเสริฐเขียนไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัว มีหลายประเด็นที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังแหลมคมในขณะนี้

ประเด็นแรกคือมุมมองของนายประเสริฐเกี่ยวกับการก้าวเข้าสู่การเมืองของนักธุรกิจ ที่มองว่าการพัฒนาระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยลอกเลียนความรู้จากกฎหมายของต่างประเทศในระบบทุนนิยมมาประยุกต์ใช้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ใช้สติและปัญญานำเอาวิธีปฏิบัติที่ดีและเหมาะสม ตลอดจนวิธีการป้องกันการเอาเปรียบ การเลี่ยงปฏิบัติตามกฎหมาย ฯลฯ มาใช้ด้วย ประกอบกับการเอาความสะดวกสบายโดยไม่รู้จักคิด ปล่อยหรือยอมให้ผู้อื่นคิดแทน โดยไม่มีการพิจารณาว่า ระบบดังกล่าวสอดคล้องกับศีลธรรมและวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมไทยหรือไม่ เพราะผู้นำเข้ามุ่งแต่การมีระเบียบ แบบแผน กฎหมาย และหวังในความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขาดประสบการณ์ ไม่ทราบหรือคิดมาก่อนว่า ความรู้ที่นำมานั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเตรียมการป้องกันไว้ด้วย

เช่น การประกอบธุรกิจแบบครอบครัวได้พัฒนาเป็นห้างหุ้นส่วน บริษัทเอกชน บริษัทมหาชน และกลุ่มบริษัท โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมเงินทุน และต่อไปจะมีตลาดกลางสินค้าเกษตรล่วงหน้า แต่มีผู้คิดหาช่องทางต่างๆ ของกฎหมาย เช่น การค้าเสรี เปิดโอกาสให้ใครมือยาวสาวได้สาวเอา โดยใช้ความได้เปรียบในฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นที่อยู่ และการศึกษา การเอาประโยชน์โดยใช้ผู้ใกล้ชิดให้มีจำนวนเพียงพอที่จะก่อตั้งบริษัทแล้วโอนลอยหุ้น การใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทน การปล่อยเงินกู้เฉพาะแก่คนรู้จัก การโอนถ่ายกำไรระหว่างบริษัท การใช้ข้อมูลภายในของบริษัท และกลุ่มบริษัทเพื่อขายกิจการ และการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นธรรม

 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’

ผู้ถูกร้องนายทักษิณ ชินวัตร จะทราบความจริงนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ได้กล่าวอย่างภาคภูมิใจและชัดถ้อยชัดคำว่า การที่ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจประสบความสำเร็จ จนมีบริษัทในเครือและทรัพย์สินมากมาย โอนลอยหุ้นและใช้ชื่อบุคคลอื่นถือหุ้นแทนนั้น “เป็นการประกอบธุรกิจตามธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกันอย่างนั้น” ทั้งๆ ที่การทำธุรกิจในระบบนายทุนของต่างประเทศเป็นการกระทำมุ่งแสวงหากำไร เป็นความโลภ และความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ ไม่คำนึงถึงศีลธรรม และวัฒนธรรมอันดีงามของไทย

นอกจากนี้ผู้ถูกร้องอ้างว่า เลิกกระทำธุรกิจหันมาทำงานการเมืองแล้ว ตั้งแต่ปี 2537 และมอบการบริหารธุรกิจในกลุ่มบริษัทให้แก่คู่สมรส (ในกรณีที่ผู้ถูกร้องเป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐ อาจเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 110 (2) บุตรและเครือญาติดำเนินการต่อไป (แทนที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 209 โอนหุ้นให้นิติบุคคล ซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น เช่น การให้ทรัสต์จัดการทรัพย์สิน ในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความคิดก้าวหน้าสำหรับประเทศไทย)


คำวินิจฉัยส่วนตนของนายประเสริฐ ยังวิเคราะห์กรณีพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้ถูกร้องเข้าใจผิดว่า จำนวนประชาชนที่ออกเสียงเลือกผู้ถูกร้องในการเลือกตั้งทั่วไป เพราะผู้ถูกร้องเสนอโครงการต่างๆ เป็นที่ถูกใจได้นั้นมากมายมหาศาล แต่จำนวนประชาชนดังกล่าวมิได้มากกว่าจำนวนคนที่ทราบว่า ผู้ถูกร้องและคู่สมรสมีทรัพย์สินและหนี้สินจริงในวันยื่นบัญชีฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 วรรคสอง เพราะประชาชน กว่า 11 ล้านคนนั้นไม่ทราบจำนวนทรัพย์สินและหนี้สินจริงของผู้ถูกร้องและคู่สมรส ดีไปกว่าเลขานุการส่วนตัวเพียง 2 คนของผู้ถูกร้องและคู่สมรส เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

การกระทำของผู้ถูกร้องดังกล่าวข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นผลของอดีตยังคงคิดและทำเหมือนเดิม เหมือนนักธุรกิจคนอื่นๆ ในระบบทุนนิยมในประเทศไทย แต่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่า แนวความคิดที่จะบริหารประเทศของผู้ถูกร้องเป็นการคิดใหม่และทำใหม่ ไม่เข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมสของชาติ ซึ่งแก้ไขไม่ได้ด้วย “เงิน” อย่างเดียว

 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’
 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’

ผู้ถูกร้องโฆษณาให้ประชาชนทราบเพียงว่า ผู้ถูกร้องประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ มีเงินมีทองมากมาย ไม่ทุจริตผิดกฎหมาย และไม่อำพราง แล้วอุทิศตัวหันมาทำงานทางการเมือง โดยการโอนการจัดการธุรกิจให้แก่คู่สมรส บุตร และเครือญาติ ผู้ถูกร้องรู้ปัญหาของบ้านเมืองดี จึงอาสาเข้ามาแก้ไข แต่ผู้ถูกร้องมิได้แสดงหรือเปิดเผยว่า ความสำเร็จในการประกอบธุรกิจในอดีตของผู้ถูกร้องภายในระยะเวลาอันสั้นนั้นกระทำได้อย่างไร และจะแก้ปัญหาการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ของครอบครัวกับประโยชน์ของส่วนรวมหรือของชาติอย่างไร

ปัญหาของบ้านเมืองบางอย่าง อาจแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงินทองเลย เพียงแต่ผู้นำของประเทศต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี โดยการ คิด พูด และทำตรงกัน และชี้นำประชาชนในชาติว่า ปัญหาของชาตินั้นอยู่ที่ทุกคนจะต้องร่วมใจกันแก้ไข ด้วยการลด ละ และเลิก “ความเห็นแก่ตัว” เป็นอันดับแรก ยิ่งทำได้มากและรวดเร็วเท่าใด จะสามารถนำพาชาติบ้านเมืองให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติสู่ความเป็นปกติรวดเร็วมากขึ้นเท่านั้น หากไม่แก้ไขความเห็นแก่ตัวก่อนแล้ว เห็นว่าหมดหวัง เพราะไม่มีทางอื่นใดที่จะแก้ไขปัญหาของชาติในเวลานี้ได้

ในคำวินิจฉัยฉบับนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อผู้ร้องกล่าวหาผู้ถูกร้องว่า จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ มีข่าวที่ค่อยๆ เบี่ยงเบนประเด็นที่ผู้ถูกร้องถูกกล่าวหาทีละน้อยๆ และเป็นระยะๆ ว่า ผู้ถูกร้องประกอบธุรกิจจนรํ่ารวยด้วยนํ้าพักนํ้าแรง ไม่มีการทุจริต ผิดกฎหมาย ผู้ถูกร้องเป็นคนแรกที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินให้ประชาชนทราบ ในขณะที่ยังไม่มีกฎหมายบังคับ ผู้ถูกร้องสมัครใจยื่นรายการทรัพย์ สินและหนี้สินเพิ่มเติมเอง หากศาลเห็นว่า ผู้ถูกร้องกระทำผิด ก็เป็นการทำผิดโดยสุจริต ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ชะลอการตัดสินคดี หรือยกโทษให้ผู้ถูกร้อง ไม่ควรลงโทษผู้ถูกร้องซึ่งได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนกว่า 10 ล้านคน เพื่อให้โอกาสผู้ถูกร้องบริหารประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะไม่มีใครดีกว่าผู้ถูกร้อง ประเทศไทยขาดผู้ถูกร้องไม่ได้ ซึ่งไม่มีบทบัญญัติให้ศาลกระทำได้

และเมื่อใกล้จะถึงวันที่ศาลลงมติ มีข่าวหนาหูขึ้นว่า ฝ่ายผู้สนับสนุนผู้ถูกร้องจะชุมนุมกันเพื่อกดดันศาล จะวางเพลิงเผาศาล ตลอดจนจะทำร้ายตุลาการบางคน จนกระทั่งมีการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปให้ความคุ้มครอง ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปอย่างน่าเสียดาย เป็นต้น ข่าวต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร หากมิใช่เป็น การแสดง “ความเห็นแก่ตัว” ของคน

ถึงตรงนี้คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่า การเข้าสู่การเมืองของนักธุรกิจคนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย อย่าอาศัยความนิยมมาเป็นตัวกำหนดชะตากรรมบ้านเมือง และหวังว่าเส้นทางการเมืองของ “ธนาธร” จะไม่ซํ้่ารอย“ทักษิณ”
 

|คอลัมน์ : ถอดสูตรคุย 
|โดย : บรรทัดเหล็ก
|หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3457 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 3 เมษายน 2562

 เส้นทางการเมือง ‘ธนาธร’ อย่าซํ้ารอย ‘บกพร่องโดยสุจริต’