ข้าพระบาท ทาสประชาชน :  ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง กับชัยชนะประชาชน

28 มี.ค. 2562 | 12:55 น.

ข้าพระบาท ทาสประชาชน  :  ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง กับชัยชนะประชาชน
ขณะเขียนบทความนี้ ผมอยู่ที่กรุงปารีส ติดตามผลการเลือกตั้งทางอินเตอร์เน็ตด้วยใจระทึกครับ ทราบผลไม่เป็นทางการเมื่อ 06.00 น. ที่ปารีส ซึ่งตรงกับประเทศไทยเมื่อเวลา 12.00 น. ด้วยผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ 94% จากข่าวของ นสพ.ฐานเศรษฐกิจว่า คะแนนอันดับ 1 พรรคพลังประชารัฐ 7,938,893 คะแนน 2.พรรคเพื่อไทย 7,422,600 คะแนน 3.พรรคอนาคตใหม่ 5,870,093 คะแนน 4.พรรคประชาธิปัตย์ 3,704,284 คะแนน 5.พรรคภูมิใจไทย 3,512,151 คะแนน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณ 65% จากผู้มีสิทธิ 51 ล้านคน ข้อมูลดังกล่าวมาจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งผลอย่างเป็นทางการ คงต้องรอฟังการแถลงของ กกต.ต่อไป

จากข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าว พอให้ประเมินได้ว่าคะแนนที่เหลืออีก 6% รวมกับคะแนนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า แนวโน้มความเป็นไปได้ พรรคพลังประชารัฐ คงมีคะแนนรวมทั้งประเทศสูงสุดค่อนข้างแน่นอน ความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลก็ย่อมมีสูง และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 และเป็นนายกฯ สืบต่ออีกสมัยหลังการควบคุมอำนาจการปกครองโดย คสช.

การเลือกตั้งครั้งนี้ มีปรากฏการณ์สำคัญๆ ที่น่าสนใจอย่างยิ่งหลายประการ

1. คือพรรคประชาธิปัตย์สูญพันธุ์ เสียที่นั่งใน กทม.หมดสิ้น ไม่ได้แม้แต่เขตเดียว และคะแนนรวมทั้งประเทศก็ตํ่ากว่า 10 ล้านคะแนน จากที่เคยได้ จำนวน ส.ส.ได้ประมาณ 50-60 เท่านั้น ตํ่ากว่า 100 แน่นอน ถือเป็นความพ่ายแพ้ย่อยยับที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ จนนำมาสู่การต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

2. พรรคเพื่อไทย พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 17 ปี หมดโอกาสสืบทอดอำนาจให้คนตระกูลชิน หรือ “นอมินี” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คงเป็นได้เพียงฝ่ายค้านหมดโอกาสเป็นฝ่ายรัฐบาลค่อนข้างแน่นอน

3. พรรคอนาคตใหม่แจ้งเกิดทางการเมือง ได้จำนวน ส.ส. มากกว่าที่คาดหมาย เพราะอาจมีคะแนนจากพรรคไทยรักษาชาติมาเทให้ แต่ก็ถือเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ ที่มีโอกาสเข้าสภาอย่างน้อยก็จะได้ไม่ไปเคลื่อนไหวตามท้องถนนหรือนอกสภา พูดจาอะไรต้องมีความรับผิดชอบ

การใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ของประชาชน อยู่ภายใต้สถานการณ์พิเศษ เพราะเป็นการเลือกตั้งภายหลังการควบคุมอำนาจการปกครองโดย คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งนอกจากเป็นหัวหน้า คสช.แล้ว ยังเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศคืนความสงบสุขแก่บ้านเมือง เป็นเวลาเกือบ 5 ปี และในการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ ยังเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

การควบคุมอำนาจการปกครองของ คสช.เป็นการทำให้สิ้นสุดอำนาจการปกครองของ “ตระกูลชินวัตร” ยุติ “ระบอบทักษิณ” ให้หมดอำนาจทางการเมือง สอดคล้องกับเสียงเรียกร้องของมวลมหาประชาชน รัฐบาล คสช.จึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชน การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นความท้าทายและพิสูจน์ศรัทธาประชาชนว่า สมควรที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนอีกต่อไปหรือไม่
ข้าพระบาท ทาสประชาชน  :  ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง กับชัยชนะประชาชน ข้าพระบาท ทาสประชาชน  :  ยุทธศาสตร์เลือกตั้ง กับชัยชนะประชาชน


ขณะเดียวกันฟากฝ่ายระบอบทักษิณ ก็ดิ้นรนต่อสู้ทุกวิถีทางและต้องการกลับมามีอำนาจให้ได้ โดยอาศัยช่องทางจากการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นบันได เริ่มจากยุทธการแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย สร้างพรรคหลัก พรรคบริวาร สร้างพรรคพันธมิตร มากมายเพื่อหวังชัยชนะ แต่ในที่สุดก็ปรากฏผลดังกล่าว ทั้งถูกยุบพรรค และพ่ายแพ้ต่อประชามติของมหาชนผ่านผลการเลือกตั้ง

การใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้ของประชาชน สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนผู้ใช้สิทธิได้ตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์อย่างน่าทึ่ง เสียงส่วนใหญ่ทราบดีว่า หากไม่เทคะแนนเลือกพรรคพลังประชารัฐ ระบอบทักษิณฟื้นชีพแน่ๆ ยิ่งปรากฏภาพบาดตาบาดใจที่ฮ่องกง ส่งผลให้ประชาชนตัดสินใจเทคะแนนมาให้ฝั่ง “ลุงตู่” แบบไม่ลังเล

ประกอบกับจุดยืนพรรคประชาธิปัตย์ ประเภทแทงกั๊กไม่เลือกฝ่าย มิได้แสดงจุดยืนร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมต่อสู้กับประชาชน แทนที่จะจับมือทำแนวร่วมกับ “ลุงตู่” ร่วมฝ่ายต้านศัตรูเก่า กับกลายเป็นสร้างศัตรูใหม่ อย่างที่คนในพรรควิพากษ์การแถลงในโค้งสุดท้ายของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชน จึงต้องถูกประชาชนทิ้ง สอนบทเรียนที่เจ็บปวดทางการเมือง ดังผลเลือกตั้งที่ปรากฏ จึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องก้มหน้าเลียแผล ยอมรับความเป็นจริงทางการเมือง หันกลับไปทบทวนปรับปรุงพรรคของตนเอง

การตัดสินใจใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชนครั้งนี้ ถือเป็นการตัดสินใจในเชิงยุทธศาสตร์ที่น่าชื่นชม และควรแก่การศึกษาอย่างยิ่ง แม้พรรคพลังประชารัฐจะมิใช่พรรค การเมืองที่ดีที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่ใช่นายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดก็ตาม แต่ประชาชนทั้งหลายเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เหมาะสมที่สุด สอด คล้องกับสถานการณ์ที่สุดในสายตาของประชาชน

เพียงแต่พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองไม่เห็น ภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองเช่นนี้ ประชาชนไม่ต้องการระบอบทักษิณ พวกเขาไว้วางใจ “ลุงตู่” ประชาชนเลือกความสงบจึงมาจบที่ “ลุงตู่” เพราะพวกเขารู้ว่า “รัฐบาลลุงตู่” ทำงานได้ ทำงานเป็น และมีพลังอำนาจที่จะหยุด “ระบอบทักษิณ”

การเลือกตั้งครั้งนี้จึงถือเป็น ชัยชนะของประชาชน เหนืออำนาจของระบอบทักษิณ แม้จะมิใช่ชัยชนะที่เด็ดขาด แต่ก็เป็นการสั่งสมชัยชนะครั้งสำคัญ อันจะนำไปสู่การฝังระบอบทักษิณและการเมืองตระกูลชิน ให้หมดสิ้นจากสังคมไทยในที่สุด

 


| คอลัมน์ : ข้าพระบาททาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี 
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3456 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 28-30 มี.ค.2562