ยื้อลมหายใจวิกฤติ Brexit?

12 มี.ค. 2562 | 05:00 น.

ในช่วงตลอดเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีประเด็นที่เกิดขึ้นมากมายในสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษ เรื่องที่สร้างความสนใจไม่น้อยเห็นจะเป็นกรณีที่สมาชิกของทั้งพรรคแรงงานจำนวน 7 คนและพรรคอนุรักษนิยมจำนวน 3 คน ได้ลาออกจากสถานะความเป็นสมาชิกพรรคของตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าพรรคที่ตนเองสังกัดอยู่นั้นใส่ใจเรื่องทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ของประเทศ จึงยอมที่จะลาออกมาเป็นผู้แทนราษฎรอิสระในสภา แบบไม่สังกัดพรรคการเมือง (Independent Group)

ซึ่งแน่นอนย่อมเกิดเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยเสียงที่คัดค้านเห็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านี้สามารถเข้ามาเป็นผู้แทนของประชาชนได้ ก็เพราะประชาชนในพื้นที่นั้นๆ เชื่อมั่นในพรรคการเมืองที่เขาเหล่านั้นสังกัด จึงทำให้ได้รับเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา ดังนั้นการที่ลาออกจากพรรคจึงเป็นเสมือนการทรยศพรรคของตัวเอง

ในขณะที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มสนใจปรากฏการณ์นี้ โดยเรียกร้องให้นักการเมืองทุกฝ่ายให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวิกฤติ Brexit โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก มากกว่าประโยชน์ของพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัดอยู่

ยื้อลมหายใจวิกฤติ Brexit?

และตลอดช่วงที่ผ่านมาประชาชนรอลุ้นว่ารัฐบาลของนายกฯเทเรซา เมย์ จะดำเนินการอย่างไรในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ เนื่องจากรัฐบาลได้เคยแถลงไว้ว่าในวันที่ 26 หากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอที่รัฐบาลไปทำความตกลงกับ EU มีแนวโน้มว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา เหมือนครั้งที่ผ่านมาในวันที่ 27 มกราคม จะเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภา เกี่ยวกับแนวทางแก้ไข

แต่ผลปรากฏว่าในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ นายกฯเมย์ กลับออกมาแถลงว่า ระหว่างนี้รัฐบาลมีความพยายามในการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงกับทาง EU จึงขอเลื่อนระยะเวลาการลงมติเกี่ยวกับการแยกตัว (meaningful vote) ออกไปเป็นอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 12 มีนาคม

นอกจากนี้ยังได้ยืนยันด้วยว่า หากผลออกมาปรากฏว่า ข้อเสนอของรัฐบาลถูกควํ่าเหมือนครั้งที่แล้วอีก จะมีการเปิดให้สภา ลงมติว่าจะยอมรับการแยกตัวจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง (with no deal) หรือไม่ในวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งจุดนี้รัฐบาลโดนสมาชิกสภาจำนวนมากโจมตี เพราะประเด็นนี้เคยเปิดให้มีการลงมติไปแล้ว

โดยสภาเคยยืนยันว่าจะไม่ยอม รับ Brexit with no deal และนอกจากช่องทางที่กล่าวแล้ว นายกฯเมย์ยังได้ยอมเสนอทางเลือกใหม่เป็นครั้งแรก โดยยืนยันต่อสภาว่า หากสภาลงมติยืนยันว่าไม่รับการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง ในวันที่ 14 จะเปิดให้มีการลงมติเพื่อขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปแบบจำกัดเวลาในช่วงสั้นๆ (short time- limited extension) ซึ่งในจุดนี้นายกฯเมย์แถลงว่าหากจะมีการขอขยายระยะเวลาออกไปก็จะเป็นการขอขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไปถึงแค่สิ้นเดือนมิถุนายน 2019 เท่านั้น

จากสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงในสภา ดูเหมือนว่านายกฯเมย์ ก็ยังคงใช้แผนการซื้อเวลาต่อไป เพราะหากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่า จริงๆ แล้วการลงคะแนนเรื่องการแยกตัวที่ต้องจัดให้มีการลงคะแนนตั้งแต่ธันวาคม 2018 ก็เลื่อนมาลงคะแนนเดือนมกราคม 2019 และเมื่อเปิดให้ลงคะแนนผลก็ออกมาว่าข้อเสนอจากรัฐบาลไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภา ด้วยคะแนนเสียง 432 ต่อ 202 ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้ควรจะหาทางออกอย่างช้าที่สุดไม่เกินวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตามที่รัฐบาลได้เคยแถลงไว้ต่อสภา

แต่กลับกลายเป็นว่าระยะเวลาได้ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงเกือบกลางเดือนมีนาคม ซึ่งใกล้กับช่วงครบกำหนดที่ UK ต้องแยกตัวจาก EU ในวันที่ 29 มีนาคมนี้แล้ว

ยื้อลมหายใจวิกฤติ Brexit?

การที่รัฐบาล UK เดินเกมแบบนี้มีประเด็นที่น่าเป็นห่วงหลายประการ อย่างแรกข้อเสนอที่รัฐบาลแจ้งกับสภา ว่ามีความคืบหน้า ซึ่งก็คงต้องรอดูว่ารัฐบาลได้รับข้อเสนออะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยตกลงกับ EU ในครั้งก่อน ที่สภา ได้ลงมติควํ่าข้อเสนอนั้นของรัฐบาลไปเมื่อครั้งที่แล้ว จนพอจะทำให้สภา หันมาเห็นชอบกับรัฐบาล

ซึ่งเมื่อ EU ออกมายํ้าหลายครั้งแล้วว่าจะไม่กลับสู่โต๊ะเจรจาอีก แล้วรัฐบาลจะเอาความเปลี่ยนแปลงของข้อตกลงมาจากไหน ซึ่งถ้าสุดท้ายสภายังคงโหวตควํ่าข้อเสนอของรัฐบาลอีก นั่นหมายความว่า การแยกตัวของ UK จาก EU จะกลายเป็นการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลงไปเลย

ดังนั้นถึงแม้วันที่ 13 มีนาคม สภาจะเปิดให้มีการลงมติว่าจะรับการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลงหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าสภาย่อมโหวตที่จะไม่เอา Brexit with no deal อยู่แล้ว ก็จะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แต่อย่างใด เมื่อสภาได้ควํ่า deal ของรัฐบาลไปแล้ว ดังนั้นเมื่อเวลาการแยกตัวมาถึง UK ก็จำต้องยอมแยกตัวออกจาก EU แบบไม่มีข้อตกลงอยู่ดี

นอกจากนี้คำยืนยันของรัฐบาลที่แถลงว่า ถ้าการโหวตเป็นไปไม่ได้ทั้ง 2 ทาง ไม่ว่าจะเป็นการควํ่าข้อตกลงที่รัฐบาลเสนอ หรือการไม่ยอมแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง จะยอมให้มีการลงมติเพื่อขยายระยะเวลาการแยกตัวออกไป จุดนี้ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะความยินยอมในการเลื่อนกำหนดระยะเวลาออกไปไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้เมื่อสภาของ UK ลงมติยอมรับเท่านั้น หากแต่ต้องได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกทั้ง 27 ประเทศของ EU ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากประเทศใดเพียงประเทศหนึ่งคัดค้าน (Vito) การเลื่อนกำหนดระยะเวลาแยกตัวออกไป UK ก็จำต้องแยกตัวออกจาก EU โดยทันทีในวันที่ 29 มีนาคมที่จะถึงนี้ และจะเป็นการแยกแบบไม่มีข้อตกลงอีกด้วย

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของ UK ไม่ได้มีการเสนอแผนสำรองไว้เลยว่า หากไม่ได้รับมติอย่างเป็นเอกฉันท์ในการเลื่อนกำหนดระยะเวลาการแยกตัวออกไปแล้ว รัฐบาลจะจัดการกับปัญหานี้อย่างไร ดังนั้นดูเหมือนว่าข้อเสนอเพิ่มเติมที่นายกฯเมย์ให้กับสภา ดูจะยังไม่พอที่จะยื้อเวลาวิกฤติ Brexit ออกไป

ทำให้พออนุมานได้ว่า หรือนี่จะเป็นเพียงแผนที่รัฐบาลจะบีบคอสมาชิกสภา เพื่อให้ลงมติเห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล ซึ่งตรงกับที่นายกฯเมย์ยืนยันมาโดยตลอดว่าตนและรัฐบาลประสงค์จะให้มีการแยกตัวภายในกำหนดวันที่ 29 มีนาคมนี้

และหากสภายังคงเลือกที่จะควํ่าข้อเสนอของรัฐบาลอีก การแยกตัวออกมาจาก EU ก็จะต้องเป็นแบบไม่มีข้อตกลงจริงๆ ซึ่งแน่นอนว่ามติดังกล่าวของสภา จะนำพาให้ประเทศและประชาชนต้องผจญกับปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสุดท้ายก็จะขยายวงไปเป็นวิกฤติเศรษฐกิจโลกในที่สุด 

รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย

โดย มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

ปัจจุบัน ศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3451 ระหว่างวันที่ 10 - 13 มีนาคม 2562

ยื้อลมหายใจวิกฤติ Brexit?