ดอกเบี้ยไม่ควรลดลงอีก

14 มี.ค. 2559 | 13:00 น.
วันที่ 23 มีนาคม 2559 นี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีการประชุมกัน ซึ่งทำให้ขณะนี้มีซุ่มเสียงต่อนโยบายดังกล่าวไปคนละทาง แต่ฟังดูแล้วบางส่วนเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยลงและบางฝ่ายมองว่าน่าจะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม คือ 1.50% แล้วค่อยไปพิจารณาลดดอกเบี้ยในรอบต่อไป เพราะเทียบค่าเงินบาทกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯแล้วขณะนี้ก็ไม่ได้แข็งและไม่ได้อ่อนค่าเกินไป

สำหรับผมมองว่าอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับนี้ก็ถือว่ากดดันประเทศไทยมากอยู่แล้ว หากลดดอกเบี้ยลงไปอีกก็ยิ่งไปส่งเสริมการ "ก่อหนี้ครัวเรือน" เพิ่ม เพราะดอกเบี้ยต่ำเอื้อต่อการก่อหนี้ และหนี้ครัวเรือนก็หมายถึง เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยกู้ไปเพื่อจับจ่ายใช้สอยหรือเพื่อประกอบธุรกิจต่างๆ และปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยไต่สูงขึ้นตามลำดับนับตั้งแต่ปี 2554 หลังรัฐบาลสมัยนั้นออกนโยบายคืนภาษีให้กับรถยนต์คันแรกของภาครัฐ และการกู้เงินเพื่อการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ทั่วไทย

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานภาวะหนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/2558 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงปรับเพิ่มขึ้น โดยแตะที่ระดับ 10.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 116,000 ล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า หากพิจารณาในมิติสัดส่วนต่อจีดีพีแล้วพบว่า หนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพี ณ สิ้นไตรมาส 3/2558 อยู่ที่ระดับ 81.1% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับ 80.7% ต่อจีดีพี ในไตรมาส 2/2558 และ 79.8% ต่อจีดีพีในสิ้นปี 2557 โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2558 ที่ผ่านมา เป็นผลจากการขยายสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก รองลงมาคือกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งกลับมาเร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้นหลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายจากภาครัฐ

ส่วนแนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 คาดว่ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อ โดยแตะระดับ 82% ต่อจีดีพี (บนสมมติฐานจีดีพีขยายตัว 2.8%) หรือโต 5.4% เทียบกับสิ้นปี 2557 โดยได้รับแรงหนุนจากการซื้อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนตามมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ ทำให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ นอกจากนั้น สินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ตลอดจนสินเชื่ออเนกประสงค์ น่าจะมีทิศทางเร่งตัวขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจากการเข้าสู่ฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยในช่วงท้ายปีด้วยเช่นกัน

แต่รายงานจากสภาพัฒน์หรือสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (29 กุมภาพันธ์ 2559) ว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปี 2558 ว่าระดับการเพิ่มของหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง แต่การผิดนัดชำระหนี้ยังเพิ่มขึ้นสูง โดยในไตรมาส 3/2558 หนี้สินครัวเรือนมีประมาณ 10.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.5% หรือคิดเป็นสัดส่วน 80.8% ของจีดีพี และคาดว่าสิ้นปี 2558 หนี้สินครัวเรือนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5% หรือคิดเป็น 81% ของจีดีพี แต่การชะลอตัวลงในช่วงที่ผ่านมาอาจดีดกลับขึ้นได้เพราะไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ทำให้เกษตรกรไทยมีปัญหาซ้ำเติมกับการชำระหนี้ครัวเรือนในปี 2559

ธนาคารกลางยุโรป (อีซีซี), ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด แต่ละแห่งจะมีการประชุมและออกนโยบายต่างๆ ในกลางเดือนมีนาคมนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นคงออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ต่อไปเพราะตัวเลขเงินเฟ้อของยุโรปยังต่ำกว่าคาดการณ์ โดยเฉพาะญี่ปุ่นนั้นคงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบ (หมายถึงดอกเบี้ยติดลบเฉพาะสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นเกินกว่าระดับทุนสำรอง BOJ ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ใช้ดอกเบี้ยส่วนนี้ในอัตรา -0.10% ซึ่งไม่ได้หมายความว่า คนทั่วไปหรือธุรกิจทั่วไปเอาเงินไปฝากธนาคารแล้วต้องจ่ายค่าฝาก) เพิ่มอีก เพื่อประคองการแข็งค่าของเงินเยนต่อไป ส่วนธนาคารกลางสหรัฐฯแม้ตัวเลขการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยเอาไว้คงเดิม และผมก็อยากจะให้ไทยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับเดิม ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,139 วันที่ 13 - 16 มีนาคม พ.ศ. 2559