"London has Fallen" ความไม่มั่นคง... บนการเมืองโลก

02 มี.ค. 2559 | 11:04 น.
หากนึกย้อนกลับไปเมื่อสองปีที่ผ่านมาคอหนังหลายๆ ท่านคงจะยังพอจำกันได้ว่าประมาณช่วงเดือนมีนาคม มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเหตุก่อการร้ายในทำเนียบขาว หรือ ศูนย์บัญชาการกลางของสหรัฐอเมริกา ด้วยการจับตัวประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่เป็นตัวประกัน ใช่แล้วครับผมกำลังพูดถึงภาพยนตร์เรื่อง “Olympus Has Fallen”หรือ “ฝ่าวิกฤติ วินาศกรรมทำเนียบขาว” ที่ออกฉายไปทั่วโลกและได้รับความนิยมจนมีภาคต่อเนื่องที่กำลังจะนำออกมาฉายให้เราได้ดูในเร็วๆ นี้

สำหรับผู้ชื่นชอบภาพยนตร์แอคชั่นผสมประเด็นทางการเมือง การชิงไหวชิงพริบเพื่อเอาตัวรอดลุ้นจนมือจิกเบาะแล้วละก็ เรื่อง "London has Fallen" คงจะเป็นอะไรที่รอคอยไม่น้อย การสร้างหนังท่ามกลางกระแสการก่อวินาศกรรมและการก่อการร้ายที่ทยอยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนให้เห็นประเด็นความมั่นคงบนการเมืองโลกที่กำลังปะทุอย่างเห็นได้ชัดทั่วทุกหย่อมหญ้า เหตุการณ์โจมตีกรุงปารีสเมืองหลวงของฝรั่งเศส เมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2015 นับเป็นวินาศกรรมช็อกโลกที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์มากกว่าร้อยชีวิต และผู้บาดเจ็บเกือบ 500 คน ถือเป็นเหตุก่อวินาศกรรมครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินยุโรป นับตั้งแต่เหตุระเบิดรถไฟที่กรุงมาดริดของสเปน เมื่อปี 2004

หากจะย้อนไปดูตั้งแต่หนังเรื่อง “Olympus Has Fallen” ได้ออกฉายไปในปี 2013 ก็มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในโลกของเราไม่ว่าจะเป็น เหตุก่อการร้ายโจมตีห้างสรรพสินค้า เวสต์เกต ในประเทศเคนยาเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2013 เหตุการณ์ระเบิดพลีชีพที่มีคนเสียชีวิตถึง 81 คนในประเทศปากีสถานเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2013 เหตุการณ์ยิงนายทหารเสียชีวิตและพยายามบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาของประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2014 เหตุการณ์คาร์บอมบ์ในประเทศอียิปต์ที่คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 27 คนเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2014 เหตุการณ์ชายติดอาวุธบุกยึดร้านลินด์ คาเฟ่และจับตัวประกันไว้หลายคน ณ ใจกลางนครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2014 เหตุการณ์จี้ตัวประกัน ในมหาวิทยาลัยของประเทศเคนยาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2015 รวมถึงเหตุสังหารตัวประกันอื่นๆ อีกมากมาย และล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2016 เวลา 10.35 น. ได้เกิดเหตุการณ์วางระเบิดถล่มหน้าห้างสรรพสินค้าซารีน่าย่านใจกลางกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซียและยังมีการเปิดศึกยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 7 ศพ ซึ่งก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วันเพิ่งจะเกิดเหตุระเบิดสะเทือนขวัญในนครอิสตันบูลของตุรกี นอกจากนี้ในวันเดียวกันก็ยังมีการขู่วางระเบิด ณ “Opera House” ใน เมืองซิดนีย์ ของประเทศออสเตรเลียอีกด้วย

การหยิบยกเอา “London” เมืองหลวงหัวใจสำคัญของสหราชอาณาจักร มาสร้างเป็นภาพยนตร์ในครั้งนี้จึงเกิดกระแสความหวั่นเกรงอยู่ไม่น้อย ว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอาจไม่ห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก เพราะ “ภัยการก่อการร้าย” เริ่มแทรกซึมเข้าไปทั่วทุกหัวระแหงจนไม่สามารถคาดเดาได้ ดุจนักรบใต้ดินที่ดำเนินกลยุทธิ์แบบกองโจรสร้างสงครามจิตวิทยาผสานความจริง จนไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้น รุนแรงมาก-น้อย แค่ไหน ผู้คนต่างผูกโยงเรื่องราวเข้าไปเป็นประเทศการก่อการร้ายแทบทั้งสิ้น ไม่เชื่อลองคิดถึงตอนเกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ดูนะครับว่าวินาทีแรกคุณคิดว่าอะไร
หากลองสังเกตดีๆ การสร้างหนังของฮอลลีวูดมีลักษณะคล้ายๆ กันคือ การสร้างให้ “ประธานาธิบดีสหรัฐ” แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี เรียกได้ว่า Die Hard สุดๆ และมีผู้อารักขา ทีมคุ้มกันมืออาชีพผู้เป็นดั่งเทพผู้พิทักษ์ที่เอาชนะทุกขุมนรก และตัวร้าย หรือผู้ก่อการร้าย มักมีสัญชาติ ถิ่นพำนักอาศัย หรือความร่วมมือกับประเทศคู่ตรงข้ามสหรัฐซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ “ตะวันออกกลาง” นับเป็นการสร้างสารและตอกย้ำความเชื่อบางประการที่ผูกกับการสร้างพลังอำนาจและประเด็นความมั่นคงที่อาจแฝงเร้นไปด้วยเรื่องผลประโยชน์มากมายในภาพยนตร์

เคยได้ยินคำที่ว่า “ยิ่งตอกย้ำ ยิ่งจดจำ” หรือไม่ครับ เมื่อการผลิตเนื้อหาภาพยนตร์เกิดขึ้นซ้ำๆ ซ้ำๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับตอนเด็กๆ ที่ครูให้เราท่องสูตรคูณ ท่องไปทุกวันก็จำได้ จำลึกจนเป็นปฏิกิริยาตอบสนองแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก ยิ่ง "London has Fallen" มีลักษณะคล้ายกับสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นมากเท่าไหร่ ภาพในสมองจากการชมภาพยนตร์ยิ่งตอกย้ำมากขึ้นเท่านั้น นี่อาจเป็นเกมชิงอำนาจ บนสถานการณ์การสร้างความมั่นคงโลก บนความรู้สึกไม่มั่นคงของประชากรโลกก็เป็นได้