กทม.อีก 20 ปี ข้างหน้า

28 ก.พ. 2559 | 02:00 น.
ขณะนี้ กทม.กำลังเตรียมตัวปรับปรุงครั้งใหญ่เพื่อต้อนรับเออีซีที่เปิดเต็มตัวแล้ว และกำลังจะเป็น Center hub ที่ใหญ่ที่สุดในเออีซี

เออีซีมี 10 ประเทศ และอีก 3 ประเทศมาร่วมกลุ่มด้วย 3 กลุ่มสุดท้ายคือยักษ์ใหญ่ของโลก จีน 1,300 ล้านคน เศรษฐกิจกำลังจะแซงอเมริกาในไม่เกิน 5 ปีนี้ ญี่ปุ่นแม้จะมีแค่ 350 ล้านคนเศรษฐกิจระดับ 4 ของโลก เกาหลีคนน้อยไม่ถึง 50 ล้านคน แต่เศรษฐกิจเป็น 1 ใน 10 ของโลก

ประชากรรวมกันจะเป็นตลาดบริโภคที่ใหญ่ที่สุด แค่ 10 ประเทศก็ 850 ล้านคน อีก 3 ประเทศก็ประมาณ 2,500 ล้านคน 40% ของโลก และกลุ่มคนอาเซียน รุ่นใหม่นี้เขาเรียกว่า Gen A คือ เจเนอเรชันใหม่ทันสมัยของเอเชีย การศึกษาดีคุณภาพชีวิตดี เป็นพ่อค้าหนุ่มสาวรุ่นใหม่ของโลก จะมีระดับรายได้สูงอย่างรวดเร็ว อยู่ในเมืองใหญ่ รายได้จะเพิ่ม 1 เท่าตัวทุกๆ 5 ปี

กทม.จะเป็นเมืองที่ใหญ่ในเออีซี 10 ประเทศ ไม่นับจีน ญี่ปุ่น เกาหลี กทม.อนาคตจะต้องเรียกว่า MEGA BKK ปัจจุบัน UN แจ้งว่ามีประชากร 15.5 ล้านคน(แต่ลงทะเบียนแค่ 5.8 ล้านคน) และประเมินกันว่าใน 20 ปีข้างหน้า Center BKK ที่จะรวม 5 จังหวัดโดยรอบเข้ามาด้วยแล้วจะมีประชากรกว่า 20 ล้านคน น้องๆโตเกียวของญี่ปุ่นที่ปัจจุบันมี 28 ล้านคน เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่งก็เกือบ 20 ล้านคนในปัจจุบัน

คำถามคือเราจะอยู่กันอย่างไรกับประเทศขนาดเล็ก 5 แสนตารางกิโลเมตร และ กทม.ก็แค่ 1,500 ตารางกิโลเมตร รวมกับ 5 จังหวัดก็ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตร วิธีจะมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุขก็ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็น "คนเมืองใหญ่" มิใช่เป็น "คนกึ่งเมืองกึ่งชนบท" เช่นปัจจุบัน ต้องอยู่ทางสูง Hi-Rise และหนาแน่น Hi-Density

การเดินทางก็ต้องเปลี่ยนใช้ "ระบบ Rail แทนระบบรถและถนน" เช่นปัจจุบันดูโตเกียว นิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส เซี่ยงไฮ้

สถานีที่ทุกคนมาเปลี่ยนการเดินทางร่วม 45 สถานีหลักและจะมี MEGA สถานีอยู่อย่างน้อย 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ "บางซื่อ" จะเป็น Grand Central Station of AEC ใน 2-3 ปีข้างหน้า คนจะมาใช้บริการร่วมวันละ 2 ล้านคน น้องๆโตเกียว(ราว 7 ล้านคน) อีก 2 สถานีใหญ่คือ "มักกะสัน" แห่งตะวันออก และ "สถานีแม่น้ำ" ที่คลองเตยจะเป็นสถานีที่แข่งกับสถานีมารีน่าแซนด์(Marina Sand)ของสิงคโปร์

เมืองจะต้องเปิดให้โล่ง ตึกต้อง 55 ชั้น เปิดพื้นที่ให้มากขึ้นให้ผู้คนมาเดินใช้ชีวิตบนผิวดินได้ นั่นคือ FAR จะสูงขึ้น พร้อมกับ OSR จะต้องเพิ่มขึ้นด้วย สวนสาธารณะจะเพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิตในเมือง กทม.คงต้องเพิ่มจาก 4-5 ตารางเมตรต่อคนเป็น 1 เท่าคือ 10 ตารางเมตรต่อคน ใกล้ลอนดอน ปารีส โตเกียว เข้าไปอีกนิด คนอยู่เมืองใหญ่หนีไม่พ้นคอนโดหรือเช่าอพาร์ตเมนต์ระยะยาวอยู่ทำงานในเมือง และคงต้องมีบ้านหลังที่ 2 นอกเมือง หรือในชนบทที่ตัวเองชอบ คนชั้นกลางรุ่นใหม่จะมีรายได้ดีพอจะมีบ้าน 2 หลัง

ครอบครัวต้องเป็นคนเมือง ลูกๆต้องเรียนในเมือง พักผ่อนในสวนสาธารณะในเมือง ช็อปปิ้ง เล่นกีฬาในเมือง และใช้ชีวิตชนบทปีละ 3-4 ครั้ง แหล่งงานที่สำคัญก็คงไม่หนีนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ตามชานเมือง ในเมืองต้องทำงานด้าน บริการ Service Sector เป็นหลัก

ฟังดูแล้วอีก 20 ปี กทม.กำลังจะเปลี่ยนปรับตัวเอง เราจะเป็นคนเมืองอยู่ใน MEGA BKK ไหวไหม ถ้าไม่ไหวเตรียมตัวให้ดี ย้ายออกไปเป็นชาวเกษตรชนบทยังมีเวลาจะจัดชีวิต เช่น เป็นชาวสวนทุเรียนที่ระยอง สวนมะม่วงที่เมืองจันทร์ เป็นต้น

เตรียมตัวให้ดีทั้งคนหนุ่มสาวคนที่จะแก่ในอนาคตเพราะกลุ่ม ส.ว. ผู้สูงอายุของเรามีมากขึ้น 16 % มีอายุเกิน 60 ปีแล้วพวกนี้ต้องการชีวิตใกล้หมอ ใกล้เพื่อน ไม่ยอมเหงา ต้องมีกิจการรอบตัว ก็เป็นตลาดใหม่ของประเทศเราและเออีซีในอนาคต เตรียมตัวให้ดีครับ 20 ปีเผลอแพล็บเดียว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559