จับตา! ผู้ผลิตนมแปรรูปไทยพร้อมหรือยังกับกฎระเบียบนมใหม่จีน

26 ก.พ. 2559 | 14:30 น.
ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา จีนต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายของนมผงปนเปื้อนสารไนเตรตและซีลีเนียม ส่งผลให้ต้องสังเวยทารกผู้บริสุทธิ์ไป 6 ราย และกว่า 800 รายต้องส่งตัวเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน ด้วยเหตุผลนี้รัฐบาลจีนจึงให้ความสำคัญต่อคุณภาพของวัตถุดิบและป้องกันนมผงที่ไม่ได้มาตรฐาน อันนำมาซึ่งกฎเหล็กสำหรับอุตสาหกรรมนมในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ

ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยจะรับมืออย่างไร ? ตลาดนมจีนถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และยังถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่ท้าทายสำหรับไทย ในขณะที่ไทย มีอุตสาหกรรมโคนมและอุตสาหกรรมส่วนผสมนมผงที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังมีความหลากหลายในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์นม เราจึงน่าจะพร้อมที่สุดที่จะเข้าถึงตลาดแห่งนี้

ในปี 2558 เพียง 3 ไตรมาสแรก จีนมีการนำเข้านมผงถึงเกือบ 2 แสนตัน มูลการค้าทั้งหมด 1.659 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากปี 2557 กว่า 47.2% หรือกว่า 1.06 ล้านหยวน ในเดือนหนึ่ง ๆ จีนจำเป็นต้องนำเข้านมผงถึง 1.3 หมื่นตัน จะเห็นได้ว่าจีนมีแนวโน้มสูงที่จะต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์นมจากต่างประเทศจำนวนมากเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศ

ข้อมูลจากศุลกากรจีน ชี้ให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจว่า จีนนำเข้านมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ มากกว่าประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา แม้ว่าราคานมจากประเทศเหล่านี้จะสูง แต่เพื่อความปลอดภัยชาวจีนจึงนิยม "บริโภคแพง เพื่อความปลอดภัย" โดยสามารถวิเคราะห์ได้ว่ามาตรฐานของนมจากประเทศที่พัฒนาแล้วมีคุณภาพสูงจากเหตุผลหลัก 6 ข้อดังนี้

1. ควบคุมการผลิตทั้งหมดด้วยระบบและมาตรฐานเดียวกัน

2. การป้องกันเชื้อโรคด้วยระบบปิด

3. ระบุส่วนประกอบ แหล่งที่มีชัดเจน

4. รีดนมด้วยอุปกรณ์ทันสมัย

5. บริการหลังการขายที่ดีเยี่ยม

6. คุณภาพของน้ำนมสด

กฎระเบียบสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้ก่อนเข้าไปบุกตลาดนมผงจีน มี 2 ข้อดังต่อไปนี้

(1) ตราสินค้า (Brand) บริษัทที่ต้องการจำหน่ายในจีน ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตในจีนเองหรือผู้ที่ส่งเข้ามาขายในจีนก็ตาม แต่ละบริษัทจะสามารถมีตราสินค้าได้ไม่เกิน 5 ตราต่อ 1 บริษัท

(2) สูตรนม ผู้ผลิตสามารถเลือกวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเป็นส่วนผสมของสูตรนมของตนได้เพียง 9 ชนิด ขณะที่บริษัทผู้ผลิตจากต่างประเทศสามารถเลือกวัตถุดิบมาใช้ได้ถึง 15 ชนิด

ปัจจัยในด้านวัตถุดิบที่ต้องคำนึงถึงมี 2 ประการ ได้แก่

(1) ขณะนี้จีนยังไม่ได้กำหนดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ได้ เพียงแต่ระบุว่าจะควบคุมส่วนผสมอันตราย 2 อย่าง คือ Nitrate ไม่ให้เกิน 100 มก. ต่อ1 กก. และ Selenium ต้องอยู่ในระดับ 0.48-1.90 ไมโครกรัม ต่อ 100 กิโลจูล

(2) ในกรณีที่เป็นวัตถุดิบตัวเดียวกัน แต่หากมีองค์ประกอบย่อยต่างกัน ให้ถือว่าเป็นวัตถุดิบคนละชนิด ยกตัวอย่างเช่น นมวันที่มีค่าโภชนาการโปรตีนที่ 70% ถือว่าเป็นคนละชนิดกับนมวัวที่มีค่าโภชนาการโปรตีนที่ 80%

ดังนั้น แม้ว่านมผงจากต่างประเทศจะมาตรฐานสูงเพียงใด แต่เมื่อถูกจำกัดด้วยแบรนด์และวัตถุดิบแบบนี้แล้ว ย่อมทำให้การขยายตลาดของบริษัทต่างประเทศอื่น ๆ เป็นไปอย่างยากลำบากยิ่งขึ้นแน่นอน และนี่เป็นโอกาสอันดีของผู้ผลิตนมผงของไทยที่จะเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดนมผงอันมหาศาลของจีน

กฎระเบียบควบคุมการจัดจำหน่ายนมผงในจีนนั้น แม้ว่าจะรัดกุมเพียงใด แต่ก็ไม่น่ายากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาในตลาดแห่งนี้ได้ เพราะคุณภาพนมไทยไม่ได้ด้อยกว่าผลิตภัณฑ์นมแปรรูปของยุโรปที่เข้ามาในตลาดจีนได้ก่อนเลย หัวใจการทำตลาดจีนให้สำเร็จจึงอยู่ที่ "การสร้างความมั่นใจให้ชาวจีน ด้วยการรักษาคุณภาพต่อ ไม่ให้เกิดข่าวอื้อฉาวขึ้นมาบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ชาวจีนได้ อย่างที่ผลิตภัณฑ์นมจากยุโรปได้สร้างความมั่นใจไว้แล้วนั่นเอง"

เคล็ดลับอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ประกอบการต้องวางรุ่นของนมผงให้ดี เช่น ให้เหมาะกับ ความต้องการของเด็กในช่วงอายุต่าง ๆ รวมทั้งควรสร้าง "Catch word" ที่โดนใจชาวจีนให้กับแบรนด์ไทย เช่น "นมผงนำเข้า เลิศรส เลิศคุณภาพ" เมื่อเข้ามาในตลาดแล้วก็เชื่อว่าจะใช้เวลาไม่นานที่จะเจาะตลาดแห่งนี้ได้ ชาวจีนที่เคยไปเที่ยวไทยยังเคยบอกกับผมเลยว่า "นมไทยรสชาติอร่อยกว่านมในประเทศเขามาก จนอดไม่ได้ที่จะยอมจ่ายเงินซื้อนมไทย ในราคานำเข้าในประเทศเขาเอง!"

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559