โอบามา ‘ทิ้งทวน’

18 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
นี่นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการประชุมระหว่างผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ เป็นการเฉพาะโดยในประเทศสหรัฐอเมริกา (the First ever standalone U.S.-ASEAN summit) จัดประชุมขึ้นที่เมือง Rancho Mirage มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ ฯได้เชิญผู้นำประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนทั้งหมดไปประชุมร่วมกัน ระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2559 ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯคนนี้จะอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ไปจนถึงต้นปี 2560

ซึ่งฝ่ายไทยมองว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณทางการเมืองอย่างเป็นรูปธรรมว่า สหรัฐฯ มีความจริงจังในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ฯ ในฐานะหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (the ASEAN-US Strategic Partnership) ตามที่ผู้นำทั้งสองฝ่ายได้ประกาศในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 3 ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2558 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซียที่ผ่านมา อีกทั้งเป็นการยืนยันนโยบายปรับสมดุล Rebalancing ของประธานาธิบดีสหรัฐ ฯ ที่ให้ความสำคัญต่อบทบาทของอาเซียน โดยสหรัฐฯ จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน ความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค และการรับมือกับประเด็นท้าทายในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ การประชุมจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 14-18 กุมภาพันธ์ 2559 จะช่วยส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ให้เป็นที่รู้จักในสหรัฐฯ ส่งเสริมให้อาเซียนสามารถผลักดันความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา และขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ระหว่างอาเซียนและสหรัฐ ฯ สำหรับไทยแล้ว เป็นโอกาสดีในการสานต่อประเด็นที่นายกรัฐมนตรีได้เสนอในการประชุมสุดยอดที่ผ่านมา อาทิ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการพบปะกับกลุ่มวิชาชีพคนไทยที่ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ในสหรัฐ ฯ และหารือร่วมกับคณะนักธุรกิจและนักลงทุนสหรัฐฯ ด้วย

สำหรับรูปแบบและกำหนดการประชุมฯ นั้น จะเน้นบรรยากาศที่สนิทสนมเป็นกันเองระหว่างผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ สหรัฐฯ ไม่ได้กำหนดระเบียบวาระการประชุมเต็มรูปแบบ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้นำได้ใช้เวทีเสนอข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างเต็มที่ในบรรยากาศเป็นกันเอง เพราะผู้นำต่างมีความคุ้นเคยและได้ร่วมหารือในหลายเวทีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การประชุม ฯ ได้แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อใน 3 ช่วง คือ วันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 ช่วงบ่าย การหารือช่วงที่ 1 (Retreat 1) หัวข้อ คือ การส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคผ่านนวัตกรรมและประกอบการธุรกิจ (Promoting Regional Prosperity Through Innovation and Entrepreneurship) ช่วงค่ำ การหารือระหว่างอาหารค่ำ (Working Dinner) หัวข้อ คือ ทิศทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค (Regional Strategic Outlook) วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 ช่วงเช้า การหารือช่วงที่ 2 (Retreat 2) หัวข้อ คือ การรักษาสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก (Protecting peace, Prosperity and Security in the Asia-Pacific) ครอบคลุมประเด็น การก่อการร้าย (terrorism) และความท้าทายข้ามชาติ (transnational challenges)

โดยจะมีเอกสารผลลัพธ์การประชุม ฯ ครั้งนี้ คือ หลักการซันนีแลนด์ (Sunnylands Principles) ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาจัดประชุมครั้งนี้ก็เพื่อเป้าหมายทั้งด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เอง รวมไปจนถึงพยายามแผ่อิทธิพลในอาเซียนมากขึ้น หลังจากทิ้งห่างไปนานพอสมควร ทำให้อาเซียนมีความใกล้ชิดกับจีนมากกว่า อีกทั้งหลายประเทศในอาเซียนได้ให้ความสนใจที่จะสร้างความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียด้วย ทำให้สหรัฐฯ ดูด้อยค่าลงไปมากในภูมิภาคนี้ และมักเล่นตามเกมของจีนเสมอ ความจริงแล้วหากสหรัฐฯมองไปที่เกาหลีเหนือและแก้ปัญหาที่นั่นได้สำเร็จ นั่นจึงจะเรียกผู้นำโลกที่แท้จริงได้ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,132 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559