‘บิ๊กซี’ ในมือทีซีซี

10 ก.พ. 2559 | 23:00 น.
ห้าง“บิ๊กซี”ถือกำเนิดจากกลุ่มทุนเซ็นทรัลเมื่อกว่า 20 ปีก่อน แต่เปิดได้ไม่นานมาเจอวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จึงต้องขายธุรกิจให้กลุ่มคาสิโน ทุนใหญ่จากฝรั่งเศสมากอบโกยผลกำไรขยายกิจการ จนสามารถซื้อ “คาร์ฟูร์” ประเทศไทยเข้าไปควบรวมขยายอาณาจักรทั่วประเทศ

ข้อมูล ณ สิ้นปี 2558 บิ๊กซีมีสาขาระดับซูเปอร์เซ็นเตอร์ เอ็กซ์ตร้าและจัมโบ้ รวม 125 สาขา บิ๊กซี มาร์เก็ต 55 สาขา มินิ บิ๊กซี 394 สาขา และร้านจำหน่ายเวชภัณฑ์ “เพรียว” อีก 161 สาขา เคยมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบิ๊กซีสูงถึง 2 แสนล้านบาท และมีรายได้ปีละประมาณ 1.3 แสนล้านบาท
แม้จะเป็นธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาล แม้จะมีแผนขยายกิจการอีกหลายสาขาในไทย แต่เพราะเศรษฐกิจในยุโรปเหมือนตกนรก กลุ่มคาสิโนจึงต้องขายหุ้นเอาไปลดหนี้ แล้ววันนี้ก็ประกาศเป็นทางการแล้วว่าบริษัทในเครือของกลุ่มทีซีซี ของเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกลุ่มคาสิโนแล้วด้วยวงเงินที่เทียบเป็นเงินไทย 1.2 แสนล้านบาท

1.2 แสนล้านบาท ว่าสูงแล้วแต่ก็ยังถูกกว่าที่บมจ. ซีพีออลล์ ของเสี่ยธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซื้อกิจการ “สยามแม็คโคร”จากกลุ่ม เอสเอชวี เนเธอร์แลนด์ ในวงเงิน 1.8 แสนล้านบาท
บางคนมองเป็นการลงทุนที่สวนกระแสเศรษฐกิจ แต่มองในยุทธศาสตร์ของกลุ่มทีซีซีที่เคยพลาดดีลสยามแม็คโครให้กลุ่มซีพี เคยพลาดดีลแฟมิลี่มาร์ทให้กลุ่มเซ็นทรัล การทุ่ม 1.2 แสนล้านบาทครั้งนี้คือยอมจ่ายเพื่อสร้างวงจรธุรกิจค้าปลีกครั้งสำคัญ หลังจากประสบความสำเร็จในการซื้อธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค เบอร์ลี่ยุคเกอร์ (BJC) และธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) มาไว้ในมือแล้ว

บิ๊กซีคือช่องทางจำหน่ายสินค้าที่มีอยู่ คือช่องทางขยายอาณาจักรในธุรกิจค้าปลีก ที่จะก้าวขึ้นมาแข่งขันกับกลุ่มซีพีและเซ็นทรัลที่ยึดหัวหาดอยู่ก่อนหน้า

จำนวนสาขาของบิ๊กซีวันนี้แม้จะยังห่างไกล เทสโก้ โลตัส ของกลุ่มทุนข้ามชาติจากอังกฤษ ที่วันนี้มีถึง 1,800 สาขา แม้จะยังเทียบไม่ได้กับร้าน 7-11 ของซีพีออลล์ที่วันนี้ขยายสาขากว่า 9,700 สาขา ทุกมุมถนนทั่วประเทศ

แต่ผลงานของเสี่ยเจริญที่เติบโตมาจากธุรกิจสุรา เอากำไรที่ได้จากการจำหน่ายเหล้าหงส์ทอง แสงโสม เบียร์ช้าง แปลงเป็นเจ้าของสถาบันการเงิน ประกันภัย โรงแรม ซื้อหุ้นโออิชิ ซื้อหุ้นเสริมสุข สะสมที่ดินแปลงงามๆไว้ทั่วบ้านทั่วเมืองมานานนับสิบปี พอหยิบแปลงไหนมาปั้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ก็ดังเป็นพลุติดตลาด

ดังนั้นการขยายสาขาบิ๊กซีในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นไฮเปอร์มาร์ทตามเมืองใหญ่ หรือมินิ บิ๊กซี ตามชุมชนย่อมไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ด้วยวิสัยทัศน์ ฝีมือ และเงินทุน ที่สามารถซื้อธุรกิจค้าปลีกคืนมาจากมือต่างชาติ นอกจากจะต่อยอดสร้างเม็ดเงินให้แก่กลุ่มทีซีซีแล้ว จะดันให้เป้าหมายของกลุ่มทีซีซีก้าวสู่อันดับ 1 ของอาเซียนใกล้ความจริงมากขึ้น

แต่การก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของธุรกิจจะรักษาจรรยาบรรณไว้ได้แค่ไหน จะรักษาภาพความเป็นบรรษัทภิบาล ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และคืนกำไรเพื่อสังคมอย่างไร การกระทำจะเป็นเครื่องพิสูจน์ และทุกย่างก้าวจะไม่รอดพ้นสายตาของสังคมแน่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559