ธุรกิจครอบครัวในอาเซียน ปัจจุบันและอนาคต

07 ก.พ. 2559 | 01:00 น.
อาเซียนเป็นกลุ่มประเทศที่มีความสัมพันธ์กันแต่โบราณ พวกเราจึงมีลักษณะร่วมกันหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม การเป็นอยู่ หรือแม้แต่รูปแบบการทำธุรกิจ เมื่อเร็วๆ นี้ Deloitte Southeast Asia ร่วมกับ Business Families Institute @ Singapore Management University ทำการสำรวจเจ้าของธุรกิจครอบครัวจาก 9 ประเทศในอาเซียนได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม เก็บข้อมูลช่วงเดือน ธันวาคม 2014 ถึง เมษายน 2015 พบว่าธุรกิจครอบครัวในอาเซียนเกือบทั้งหมดมีลักษณะที่ครอบครัวและธุรกิจยังไม่แยกออกจากกัน ครอบครัวและธุรกิจนั้นมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่มีความคล้ายคลึงกันและผู้บริหารก็ใช้เป็นแนวทางในการกำกับดูแลกิจการ ผลการสำรวจพบว่า สำหรับครอบครัวเอเชียแล้ว ธุรกิจครอบครัวเป็นที่มาของความภาคภูมิใจของตระกูลและการดูแลสมาชิกครอบครัวอย่างเหมาะสมจะส่งเสริมให้เกิดความทุ่มเททำงานให้ธุรกิจสามารถคงอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

[caption id="attachment_29771" align="aligncenter" width="500"] Please indicate the degree that you see you family using each of these features. Please indicate the degree that you see you family using each of these features.[/caption]

ประเด็นที่น่าสนใจพอจะสรุปได้ 4 เรื่อง ดังนี้

วัฒนธรรมและค่านิยมหลัก (Culture and Values)

สำหรับครอบครัวนักธุรกิจเหล่านี้วัฒนธรรมและค่านิยมหลักในครอบครัวเป็นสิ่งที่สร้างอัตลักษณ์และความแข็งแกร่งของครอบครัวและธุรกิจ

- ครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในอาเซียนมีทัศนคติในทางบวกต่อทั้งครอบครัวและธุรกิจ

- สมาชิกของครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในอาเซียนมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจและยังเห็นว่าพวกเขามีหน้าที่รับผิดชอบต่อธุรกิจครอบครัวด้วย

- ครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในอาเซียนยังคงมีความยืดหยุ่น เห็นถึงสถานการณ์การแข่งขันและตระหนักว่าพวกเขาต้องทำให้ดีกว่าคู่แข่ง

ความทุ่มเทต่อครอบครัวและการกำกับดูแลกิจการ (Commitment to Family and Corporate Governance)

ปกติแล้วความทุ่มเทต่อครอบครัวและธุรกิจนั้นจะค่อยๆ ลดลงจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น ความมั่งคั่ง เจเนอเรชัน จำนวนหุ้นที่ถือครอง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การเลี้ยงดูและการกำกับดูแลธุรกิจ

- ครอบครัวที่เป็นเจ้าของในอาเซียนส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่ามีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมีกลไกที่เป็นทางการในการกำกับดูแลกิจการและครอบครัวที่ดี อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังพึ่งเริ่มต้น

- โครงสร้างความเป็นเจ้าของและวิธีการกำกับกิจการโดยทั่วไปเป็นแบบง่ายๆ ที่สมาชิกในครอบครัวที่เป็นหลักเข้ามามีส่วนร่วม ในรูปแบบของการเป็นกรรมการบริษัท

- ในคณะกรรมการบริษัทของธุรกิจครอบครัวมีแนวโน้มที่กรรมการจะมีสมาชิกในครอบครัวมากกว่ากรรมการที่เป็นคนนอก

การเปลี่ยนแปลงหลักปฏิบัติในการกำกับดูแลครอบครัว (Changes in Family Governance Practices)

ครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในอาเซียนใช้การสร้างพันธะสัญญาทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อให้สามารถบริหารความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนของครอบครัว ความเป็นเจ้าของ และการบริหารงานได้

- รูปแบบของการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการที่นิยมในกลุ่มคนเหล่านี้ ได้แก่ สมัชชาครอบครัว (Family Assembly) คณะกรรมการครอบครัว (Family Committee) สภาครอบครัว (Family Council) และคณะกรรมการบริษัท (Corporate Board of Directors ) สำหรับธุรกิจ

- รูปแบบการกำกับดูแลที่ไม่เป็นทางการของครอบครัว ได้แก่ การประชุมที่ไม่เป็นทางการ (65%) งานรวมตัวกันของครอบครัว (49%) และการสื่อสารด้วยวิธีต่างๆ (49%) (ภาพที่ 1)

พบว่า 83% ของสมาชิกครอบครัวที่ถูกสำรวจเป็นสมาชิกครอบครัวรุ่นที่ 2 และ 3 ซึ่งพวกเขายังไม่แน่ใจในระบบการกำกับดูแลของพวกเขา ดังนั้นคนเหล่านี้กำลังมองหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจได้จากภายนอก
ความต่อเนื่องและการสืบทอดกิจการ (Continuity and Succession)

จากผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเรื่องการสืบทอดธุรกิจก็ยังคงเป็นเรื่องที่นักธุรกิจเหล่านี้ให้ความสำคัญเพราะ 85% ของคนที่ถูกสำรวจจะทำการวางแผนการสืบทอดกิจการภายใน 5 ปี และงานวิจัยชิ้นนี้ยังระบุว่าคนที่ได้ทำการสืบทอดธุรกิจแล้วพบว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในการสืบทอดธุรกิจ ได้แก่ การทุ่มเท ความรู้สึกเป็นเจ้าของ และความกลมเกลียวในครอบครัว

- เจ้าของธุรกิจครอบครัวต้องการที่จะสร้างธุรกิจให้มีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตและเตรียมทายาทรุ่นต่อไปเพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ

- ทายาทรุ่นต่อไปมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพและยินดีที่จะใช้ความพยายามให้สูงกว่าที่คาดหวังไว้เพื่อช่วยให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จ

- ครอบครัวที่เป็นเจ้าของธุรกิจในอาเซียนนั้นมีความเชื่อมั่นในอนาคตของธุรกิจครอบครัว โดย 77% ของครอบครัวที่ถูกสำรวจนั้นมีแผนในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: BFI@SMU and Deloitte Southeast Asia. 2015. Asian Business Families Governance: Crossing the Chasm for Inter-Generational Change. Available: http://www2.deloitte.com/content/dam/Deloitte/sg/Documents/finance/sg-fas-research-survey-asian-business-families-governance-may2015-noexp.pdf

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559