ต้นทุนต่อสังคม จากการติดพนัน

14 ม.ค. 2561 | 00:00 น.
TP07-3331-1A สวัสดีปีพุทธศักราช 2561 ท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ ขอให้ปีนี้เป็นปีที่ดีของท่านผู้อ่านคอลัมน์ เศรษฐเสวนา
จุฬาฯทัศนะทุกท่านนะคะ

ต้นเดือนที่ผ่านมา นอก จากจะเป็นวันขึ้นปีใหม่ที่หลายๆ ครอบครัวคงจะได้จัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ด้วยความสุขกันอย่างถ้วนหน้าแล้วนั้น ผู้เขียนเชื่อว่ามีครอบครัวส่วนหนึ่งอาจเกิดความเครียดตั้งแต่ต้นปีค่ะ เครียดเพราะผิดหวังในบางเรื่อง ถ้าท่านผู้อ่านลองนึกๆ ดูดีๆ ก็คงพอจะทราบว่าในแต่ละเดือนนั้นจะมีวันอยู่ไม่กี่วัน (เฉพาะเจาะจงเลยก็ 2 วัน ถ้ารวมช่วงหาข้อมูลด้วยก็อาจ
จะมากกว่านั้นค่ะ) ที่คนไทยส่วนหนึ่ง ยํ้าว่าส่วนหนึ่งนะคะ จะมีอาการกระสับกระส่ายไม่เป็นอันทำอะไร จิตใจเหมือนจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัว มันหงุดหงิด งุ่นง่านไปหมด

ใช่แล้วค่ะ ผู้เขียนกำลังพูดถึงวันที่ 1 กับวันที่ 16 ของเดือนซึ่งเป็นวันที่สลากลอตเตอรี่ ออกรางวัลค่ะ สืบเนื่องมาจากข่าวดังเมื่อปลายปีที่แล้วเกี่ยวกับการขึ้นสถานีตำรวจของหลายๆ คน กรณีการแจ้งความสลากลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 หาย ถึงขั้นที่มีการออกคำแนะนำจากหลายๆ แหล่งถึงวิธีการว่าเราควรประทับดีเอ็นเอของเราอย่างไรลงไปบนสลาก เพื่อเป็นการแสดงความเป็นเจ้าของที่แท้จริง บางคนถึงขั้นไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจว่า สลากเป็นของตัวเองตั้งแต่ก่อนวันที่เลขสลากจะออกเสียอีก ทุกวันนี้ผู้เขียนยังขำไม่หายเลยค่ะ

TP07-3331-2A ในวันนี้ผู้เขียนในฐานะ นักเศรษฐศาสตร์ที่ทำงานวิจัยศึกษาเรื่องต้นทุนจากพฤติกรรมของคนในสังคม อยากจะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านได้ฟังกันค่ะ ว่าการพนันที่เราอาจมองว่าเป็นเรื่องสนุกๆ ขำๆ เนี่ย ที่จริงแล้วถ้า
คนคนหนึ่งเล่นพนันมากเสียจนถึงขั้นที่ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ต้องเล่นด้วยเดิมพันที่มากขึ้นเรื่อยๆ และเล่นจนนำไปสู่การมีปัญหาทางการเงิน เป็นหนี้เป็นสินในทางการแพทย์ถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ป่วยทางจิตประเภทหนึ่งนะคะ แบบเดียวกับผู้ที่มีอาการติดสุรา (Alcoholism) เลยล่ะค่ะ โดยในสังคมที่มีกลุ่มคนแบบที่ว่ามากเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นการสร้างต้นทุนให้กับสังคมและประเทศชาติมากเท่านั้นนะคะ

คนที่ได้รับการประเมินจากจิตแพทย์ว่ามีอาการติดพนัน (Pathological gamblers) หรือในระดับอาการที่เบาลงมาหน่อย แต่ก็ยังถือว่าเป็นการติดพนันเหมือนกัน (Problem gamblers) มักจะก่อปัญหาให้ทั้งกับตัวเอง ครอบครัวและคนรอบข้างค่ะ

ยกตัวอย่างเช่น บางคนที่มีอาการติดพนันมากเสียจนไม่สามารถหยุดเล่นได้ เมื่อไม่มีเงินไปเล่นพนันต่อ อาจจะต้องไปโกงเงินบริษัทที่ตัวเองทำงานอยู่หรือไปขโมยของ ฉกชิงวิ่งราว (จำได้ไหมค่ะว่าเรามักจะได้ยินข่าวจี้ปล้นบ่อยๆ หลังฤดูการแข่งขันฟุตบอล) หรือแม้แต่การที่คนที่ติดพนันมากๆ ต้องหยุดงานเพื่อไปหาเลขเด็ด หรือเอาเวลาที่ควรจะทำงานไปเล่นพนัน หรือการที่ทำงานได้ไม่เต็มที่เพราะไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน อาจเพราะตื่นเต้น ลุ้นผลรางวัลหรือกังวลใจกลัวเจ้าหนี้พนันมาตาม หรือการที่บางคนเกิดปัญหาการเงินในครอบครัวจนต้องเลิกรากัน

ในทางเศรษฐศาสตร์เราถือว่า พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการสร้างต้นทุนผลกระทบต่อสังคมค่ะ เพราะถ้าหากคนกลุ่มนี้ไม่ติดการพนัน การโกงเงิน การขโมยของก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้ตำรวจ ศาลไม่ต้องมาทำหน้าที่พิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการพนันเหล่านี้ ภาษีของประชาชนก็จะได้ถูกนำไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นจริงๆ
เช่น การรักษาพยาบาล หรือการศึกษา (ในกรณีต่างประเทศ นักพนันที่ติดพนันอย่างรุนแรงส่วนหนึ่งถูกฟ้องจากคดีฉ้อโกงหรือถูกฟ้องล้มละลายจึงต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ถือเป็นการเอาภาษีของประชาชนคนอื่นมาใช้ในทางที่ผิดค่ะ)

728x90-03 ในขณะเดียวกัน คนที่ได้รับเงินค่าจ้างให้ทำงานก็จะทำงานอย่างเต็มที่คุ้มค่าเงินเดือน สร้างผลผลิตให้กับประเทศชาติได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ครอบครัวหลายๆ ครอบครัวก็จะไม่ต้องเผชิญปัญหาครอบครัวแตก แยก ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาที่การเล่นพนันหลายประเภทเป็นสิ่งถูกกฎหมาย มีการประเมินต้นทุนต่อสังคมที่ก่อขึ้นโดยนักพนันที่มีอาการติดพนันสูงถึงราว 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปีทีเดียวค่ะ (Thompson, Gazel, & Rickman (1997))

อาการติดพนันจึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือว่าสนุกๆ หรอกนะคะ เปรียบได้ว่าเป็นผู้ป่วยประเภทหนึ่งที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเหมาะสมค่ะ

ท่านผู้อ่านที่กำลังสงสัยว่าการเล่นพนันของตัวเองนี้เข้าขั้น “ติด” ซึ่งจะก่อให้เกิดต้นทุนต่อสังคมอย่างที่เล่ามาหรือไม่ สามารถโทรศัพท์ไปปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ที่เบอร์ 1323 สายด่วนสุขภาพจิตนะคะ เขา จะมีแบบประเมินทางจิตวิทยาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ทำ อีกทั้งยังอาจให้คำแนะนำดีๆ หากท่านผู้อ่านต้องการเลิกเล่นพนันได้ด้วยค่ะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,331 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9