ปีนี้เศรษฐกิจโตแน่ แต่กำลังซื้อต้องรอภาคเกษตรฟื้น

13 ม.ค. 2561 | 00:33 น.
MP23-3330-2A ในปีที่ผ่านมา เราเห็นตัวเลขการส่งออกที่กลับมาบวกในระดับที่แข็งแกร่ง การลงทุนเอกชนที่เริ่มกลับมาบ้าง และคาดว่าในปีนี้จะยังคงมีแรงส่งทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นว่าการโตแบบนี้เป็นการโตเฉพาะผู้มีรายได้จากการส่งออกและตลาดในประเทศในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ มากกว่าที่จะเป็นรายเล็กๆ และยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร ซึ่งวันนี้ผมจะมาเล่าเศรษฐกิจโตดีหรือไม่ดี ในมุมมอง “เงินในกระเป๋าของคนไทย” ผ่านแนวโน้มภาคธุรกิจและโครงสร้างการจ้างงานของประเทศมาให้พิจารณากันครับ

เรามาดูแนวโน้มธุรกิจกันครับว่าในปีนี้แต่ละภาคธุรกิจเป็นอย่างไร เริ่มจากภาคบริการคาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่องหลักๆ มาจากภาคท่องเที่ยว ภาคการผลิตคาดว่าจะดีขึ้นโดยเฉพาะภาคการผลิตที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ภาคการค้าคาดว่าจะมีทิศทางทรงตัวโดยการค้าปลีกในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลจะยังเติบโตได้ดีแต่การค้าในต่างจังหวัดจะยังทรงตัวถึงแย่เนื่องจากกำลังซื้อต่างจังหวัดยังไม่ดี ส่วนภาคการเกษตรน่าห่วงที่สุด เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรคาดว่าจะทรงตัวในระดับตํ่า

จะเห็นว่าหลายภาคธุรกิจมีทิศทางดีขึ้น แต่สำหรับภาคเกษตรนั้น ยังมีความอ่อนแออยู่ จากตัวเลขโครงสร้างการจ้างงานของประเทศจะพบว่าภาคเกษตรมีการจ้างงานจำนวนกว่า 12 ล้านคนจากการจ้างงานของทุกภาคธุรกิจ 37.4 ล้านคน หมายความว่า แม้ภาพรวมแรงงานเกือบทุกภาคเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่แรงงานภาคเกษตรซึ่งคิดเป็น 31.5%ของแรงงานทั้งหมด “ยังแย่อยู่”

MP23-3330-1A แล้วภาคเกษตรแย่แค่ไหนล่ะ? ผมหยิบตัวเลขที่เกี่ยวกับเงินในกระเป๋าของภาคเกษตร โดยนำรายได้เกษตรกรที่เพาะปลูก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มนํ้ามัน ในปีที่แล้ว (2560) มาคำนวณ เนื่องจากในปีนี้ (2561) คาดว่าแนวโน้มของราคา 5 พืชเศรษฐกิจจะไม่ต่างจากปีที่แล้วมากนัก สรุปคือ ปีที่แล้วรายได้ของเกษตรกรเป็นอย่างไร ปีนี้รายได้ของเกษตรกรก็ไม่น่าจะต่างกันมากนัก

ผมนำตัวเลข 3 ตัวคือ ผลผลิตเกษตรที่ผลิตได้ ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา มาคำนวณหาว่า ท้ายที่สุดแล้วเกษตรกรทำการเพาะปลูกพืชแล้ว “มีกำไร หรือ ขาดทุน” [สูตรคำนวณ กำไร (ขาดทุน) = ผลผลิตสินค้าเกษตร x (ราคาที่เกษตรกรขายได้ -ต้นทุนการผลิต)] ก็พบว่า ผลกำไร (ขาดทุน) ของ 5 พืชเศรษฐกิจในปีที่แล้ว ภาพรวมเกษตรกรไทยขาดทุนไปกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท หมายความว่า แรงงานในภาคเกษตรกว่า 12 ล้านคนทำเกษตรแล้ว “เงินในกระเป๋ากลับน้อยลง” และแน่นอนว่า “เมื่อชนชั้นเกษตรกรจำนวนมากซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศมีกำลังซื้อลดลงก็ย่อมทำให้การเติบโตของการบริโภคฟื้นตัวได้ช้านั่นเอง”

ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ มีมาตรการออกมาช่วยเหลือแก้ไขในทุกปี และในปีนี้รัฐบาลยิ่งให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาในภาคเกษตรมากขึ้น โดยกำหนด 5 นโยบายเร่งด่วนให้เป็นของขวัญเกษตรกร ได้แก่ (1) เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 3.9 ล้านคนที่ขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในโครงการบัตรสวัสดิการรัฐ (2) วางระบบแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรโดยให้มีเจ้าภาพชัดเจน ต่อไปจะไม่มีการโยนความรับผิดชอบให้กระทรวงอื่นและการผลิตต้องเชื่อมโยงตลาดอย่างบูรณาการ (3) สร้าง SMEs ภาคเกษตรขึ้นมา โดยให้เกษตรกรที่มีหัวก้าวหน้าทั้ง Smart farmer สหกรณ์ และวิสาหกิจชุมชน เป็นผู้เริ่มทำ (4) กรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมจะส่งเสริมการปลูกพืชอื่นและส่งเสริมทำปศุสัตว์แทน (5) ส่งเสริมสหกรณ์โดยให้มีการดำเนินการอย่างเป็นธรรม ทั้ง 5 นโยบายเร่งด่วนนี้จะสัมฤทธิผลได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่ว่า “นโยบายสามารถแปลงเป็นแผนการดำเนินการที่ทำได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรมได้หรือไม่?”

ผมขอยกตัวอย่างนโยบายข้อ 4 ที่ว่า “กรณีพื้นที่เพาะปลูกไม่เหมาะสมจะส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแทน” การทำให้สำเร็จ จำเป็นจะต้องมี Action Plan ที่ทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการกล่าวคือ ก่อนทำนโยบายจะต้องรู้ว่าพื้นที่ใดเหมาะที่จะปลูกพืชอะไร พื้นที่ใดไม่เหมาะสมที่จะปลูกพืชอะไรหรือพื้นที่ใดมีการปลูกพืชชนิดนั้นๆ มากเกินไป ทำให้ผลผลิตออกมาเยอะ ราคาสินค้าเกษตรนั้นเลยตกตํ่า พร้อมทั้งจะต้องมีการพยากรณ์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรเพื่อให้ทราบว่าราคาสินค้าเกษตรใดจะสูงขึ้นหรือจะตกตํ่าในปีนั้น เพื่อให้สามารถวางแผนได้ เมื่อทราบแล้วผู้ดูแลพืชเกษตรแต่ละชนิดจะต้องทำงานร่วมกันและประเมินภาพรวมของแผนงานว่าผลผลิตพืชที่ตนเองดูแลในปีนั้นๆ ควรเป็นเท่าไหร่ แล้วก็ให้สื่อสารไปยังเกษตรกรว่า ในปีนั้นๆ พื้นที่นี้ควรเพาะปลูกพืชอะไรจึงจะได้กำไร และในกรณีที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นทดแทนก็ให้มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปสอนเกษตรกร

และที่สำคัญอาจต้องมีการการันตีว่า ถ้าเปลี่ยนไปปลูกพืชใหม่นี้แล้ว จะสามารถขายได้ที่ราคาเท่าไหร่ ภายใต้ต้นทุนเท่าไหร่ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรกล้าที่จะตัดสินใจเปลี่ยนการปลูกพืชที่ไม่คุ้นเคย จะเห็นว่าเพียงตัวอย่างนโยบายเดียวที่นำมาสร้างเป็นแผนดำเนินงานก็มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตั้งแต่ผู้กำหนดนโยบาย เจ้าหน้าที่รัฐจากหน่วยงานต่างๆ ภาคเอกชนผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่าง บูรณาการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากว่าทุกนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลสามารถแปลงเป็นแผนดำเนินการที่เป็นรูปธรรม ทำได้จริง เห็นผลจริง “ก็จะเป็นของขวัญปีใหม่ที่มีมูลค่าสูงยิ่งของภาคเกษตร” ซึ่งจะส่งผลทำให้การบริโภคภาพรวมของประเทศเติบโตอย่างแข็งแกร่งและกระจายตัวอย่างทั่วถึงครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9