Big Data VS Blockchain

11 ม.ค. 2561 | 23:05 น.
TP10-3330-5 เว็บไซต์ Coindesk.com รายงานไว้ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายมาร์ก ซักเคอร์ เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก กำลังศึกษาอย่างเป็นจริงเป็นจังกับบรรดาสกุลเงินดิจิตอล และเทคโนโลยีการเชื่อมต่อที่ไม่ต้องพึ่งคนกลาง (Decentralized Technology) อื่นๆ ที่กำลังมาแรง และเป็นเทรนด์สำหรับธุรกิจในโลกใหม่ เพื่อหาทางนำมาปรับใช้กับเฟซบุ๊กในอนาคต

สิ่งที่นายมาร์กบอกเอาไว้หมายถึงอะไร? พูดง่ายๆ ก็คือ เฟซบุ๊กกำลังจะทำการศึกษาเงินดิจิตอล และ บล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ต้องพึ่งคนกลางนั่นเอง เพื่อดูว่าผลกระทบทั้งทางดี และไม่ดี ต่อเฟซบุ๊กจากทั้ง 2 อย่างนั้นจะเป็นอย่างไร และมีอะไรที่เฟซบุ๊กต้องปรับตัวบ้าง

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนครับ ว่า สกุลเงินดิจิตอล และบล็อกเชน นั้นทำงานไปด้วยกัน ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้แนวปรัชญาหลักๆ ก็ คือ “ไม่ผ่านคนกลาง” และ “อยู่เหนือการถูกควบคุมจากรัฐ หรือใครคนใดคนหนึ่งหรือสถาบันการเมืองใด” แต่จะเป็นการติดต่อกันระหว่างคน 2 คน (peer to peer)โดยตรงผ่านการทำธุรกรรม หรือส่งข้อมูลที่มีการเข้ารหัสเอาไว้

เช่น ผมจะโอนเงินในรูปสกุลเงินดิจิตอล หรือ ข้อมูลบางอย่าง ไปให้นายสมชาย ซึ่งพักอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก ในสหรัฐอเมริกา ผมก็สามารถส่งผ่านระบบบล็อกเชนไปหานายสมชายได้ทันที โดยไม่ผ่านคนกลางอย่างธนาคารครับ ขณะที่การส่งข้อมูลไปหานายสมชายก็สามารถทำได้โดยตรงผ่านระบบบล็อกเชน โดยไม่ต้องส่งผ่านคนกลางที่ให้บริการอี-เมล์อย่างจี-เมล์ ยาฮู หรือ ฮอตเมล์ ดังนั้น ข้อมูลของผม ก็จะมีเพียงผมและนายสมชายเท่านั้นที่รู้รายละเอียดครับ และนี่ก็คือประโยชน์หลักของบล็อกเชน

TP10-3330-3 โดยในปัจจุบัน มีระบบการส่งข้อมูลผ่านบล็อกเชนมากมาย อาทิ Bitmessage หรือ Mega ซึ่งข้อมูลที่ถูกส่งผ่านระบบเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสเอาไว้ และเป็นการส่งระหว่างผู้ส่ง และผู้รับโดยตรง ไม่จำเป็นต้องส่งผ่านอี-เมล์ หรือแอพพลิเคชันอื่นๆ เช่น ไลน์ หรือ วอตส์แอพ ดังนั้น ข้อ ความ หรือข้อมูลของเราจะปลอดภัยอย่างที่สุด
แล้วเฟซบุ๊ก จะเดือดร้อนอะไรกับระบบนี้?

อธิบายกันอย่างง่ายๆ ก็คือ สิ่งที่ทำให้เฟซบุ๊ก และบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ เติบโตพุ่งพรวดขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด จนมูลค่าตลาดของเฟซบุ๊ก พุ่งไปแตะมากกว่า 540,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯไปแล้ว นั่นก็เพราะคนทั่วไปอย่างเราๆ ช่วยกันประเคนข้อมูลส่วนตัวของเราๆ ไปให้เฟซบุ๊กอยู่ในทุกวินาที ทุกนาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน ช่วยให้นายมาร์ก รวยเอาๆ นี่เอง

ข้อมูลของผู้บริโภค เป็นสิ่งที่บริษัทเหล่านี้ต้องการอย่างมากโดยจะถูกเก็บเอาไว้ในระบบที่เราเรียกว่า “Big Data” เป็นข้อมูลว่าเราทำอะไร ไปไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ชอบกินอะไร วางแผนไปไหน เป็นแฟนกับใคร ข้อมูลจะถูกบันทึกเอาไว้ทั้งหมด แทบจะเรียกได้ว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ ถูกขโมยความเป็นส่วนตัวไปอย่างไม่รู้ตัวและโดยจำนนผ่านโซเชียลมีเดียทั้งหลายนี่แหละครับ

ถ้าเป็นสมัยก่อน ก็เหมือนกับที่มีการขโมยข้อมูลบุคคลและเบอร์โทรศัพท์นำไปขายให้ธนาคารหรือบริษัทประกันที่โทร.มาขายประกันบ้าง ขายบัตรเครดิต จนเรารำคาญกันนั่นละครับ เพียงแต่ว่า รูปแบบของ Big Data ในปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปอยู่ในรูปของแพลตฟอร์มดิจิตอลโดยที่ผู้บริโภคถูกขโมยข้อมูลโดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง

บาร์ไลน์ฐาน ตัวอย่างก็คือ เมื่อผมลองเสิร์ชหาโรงแรมที่พักที่เชียงใหม่ผ่านกูเกิล ทิ้งเวลาไปเพียงไม่กี่นาที ผมเปิดเฟซบุ๊กของผมขึ้นมา ก็มีโฆษณาเสนอโรงแรมที่พักที่เชียงใหม่ให้กับผมบนเฟซบุ๊กทันที นี่ละครับ ที่บริษัทพวกนี้ขโมยข้อมูลของเราไป และไปขายให้กับบริษัทนายหน้าที่พักโดยอัตโนมัติ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือการที่ผู้บริโภคถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปโดยไม่รู้ตัวทั้งสิ้น

ดังนั้น Big Data และ Blockchain จึงมีปรัชญาที่สวนทางกันอย่างชัดเจน Big Data คือแหล่งทำมาหากินหลักของเหล่าบริษัทที่เป็นคนกลาง (Centralized) ขณะที่ Blockchain นั้นเป็นระบบที่กำจัดคนกลาง (Decentralized) เพื่อที่เราจะได้ไม่ต้องเสียเงิน เสียค่าใช้จ่าย เสียค่าธรรมเนียมเพิ่ม เปิดทางสู่การติดต่อกันระหว่างผู้ให้กับผู้รับโดยตรง หรือระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง โดยสรุปก็คือ ทุกวันนี้ เฟซบุ๊ก กูเกิล ก็เหมือนกับพ่อค้าคนกลางในระบบการทำธุรกิจ โดยอาศัยผลประโยชน์จากการ ใช้ Big Data แต่ บล็อกเชนกำลังจะทำลายสิ่งเหล่านั้นไป

นี่คือเหตุผล ที่ว่า ทำไม นายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ถึงต้องกระโดดเข้ามาศึกษาระบบนี้อย่างชัดเจน และกำลังมองลู่ทางว่าจะหาผลประโยชน์หรือปรับตัวให้เข้ากับมันอย่างไร เพราะระบบนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ยิ่งถ้าทั่วโลกทำธุรกรรมทางการเงิน ส่งข้อมูลติดต่อกันผ่านระบบบล็อกเชนกันมากขึ้นเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นอันตรายต่อ Big Data มากขึ้นเท่านั้น และเท่ากับเป็นการทำลายแหล่งทำมาหากินของบรรดาบริษัทโซเชียล หรือธนาคารโดยตรงครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9