ประชาคมอาเซียนปี 2018

10 ม.ค. 2561 | 07:27 น.
TP07-3330-1 ปี 2018 เป็นอีก 1 ปีที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญกับประชาคมอาเซียน ประชาคมของประชากร 630 ล้านคนใน 10 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์กันในทุกมิติและในทุกระดับ การเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 2 ประเด็นน่าจะต้องถูกนำมาวิเคราะห์

ประเด็นที่ 1 นั่นคือ สิงคโปร์ จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ตามวาระซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเรียงลำดับตามตัวอักษร (ซึ่งนั่นหมาย ความว่า ประเทศไทยของเราก็จะดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนในปี 2019 หรือในอีก 2 ปีข้างหน้า) คาดว่าประเด็นที่สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียนคง จะเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเป็นพิเศษน่าจะเป็นประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 ประเด็นหลักอันได้แก่ การปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ Trade Facilitations (TFs) เป็นอีกหนึ่งเรื่องซึ่งยังเดินหน้าในระดับที่ล่าช้า แน่นอนว่าสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลางระบบโลจิสติกส์โลกและเป็นทำเลที่ตั้งสำคัญของตัวแทนบริษัทข้ามชาติทั่วโลกจะได้รับประโยชน์โดยตรงหากการค้าและการลงทุนในภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างไร้รอยต่อ หรืออย่างน้อยก็มีข้อกีดกันทางการค้าที่ลดลง

TP07-3330-3 เรื่องที่ 2 น่าจะเป็นเรื่องของการผลักดันให้อาเซียนเดินหน้าสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งสิงคโปร์ถือเป็นประเทศชั้นนำที่ลงทุนลงแรงทำนโยบายนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1980

และเรื่องที่ 3 ที่ผมเชื่อว่าสำคัญที่สุด และสิงคโปร์คงจะต้องผลักดันให้สำเร็จนั่นคือ การเจรจาและการลงนามข้อตกลงการค้า Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) หรือ อาเซียน +6

อาเซียน+6 หรือ RCEP คือข้อตกลงการค้าเสรีที่ครอบคลุมสมาชิก 16 ประเทศ อันได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ถ้าข้อตกลงนี้เกิดขึ้นได้จริง นี่คือเขตการค้าเสรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกทั้งในมิติขนาดของเศรษฐกิจ (ครอบคลุมกว่า 40% ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก) และในมิติประชากรที่รวมกันมากกว่า 3,400 ล้านคน

RCEP ถูกกำหนดให้มีการหาข้อสรุปและลงนามมาตั้งแต่ปี 2015 หากแต่ในปัจจุบันหลังจากผ่านการเจรจาไปแล้ว 19 รอบ และการประชุมสุดยอดผู้นำ (ซึ่งถือเป็นรอบที่ 20) แต่ RCEP ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปและลงนามได้ แต่คาดการณ์กันครับว่า สิงคโปร์ในฐานะเจ้าภาพ น่าจะผลักดันให้เรื่องนี้แล้วเสร็จได้ ซึ่งก็จะสอดคล้องพ้องกันกับประเด็นที่ 2 ที่น่าสนใจของ อาเซียนในปี 2018

[caption id="attachment_248627" align="aligncenter" width="503"] Lim Jock Hoi Lim Jock Hoi[/caption]

ประเด็นที่ 2 นั่นคือ 1 มกราคม 2018 จะเป็นวันเริ่มต้นการเข้ารับ ตำแหน่งของเลขาธิการท่านใหม่ นั่นคือ Dato Paduka Lim Jock Hoi เลขาธิการอาเซียนท่านใหม่จากการเสนอชื่อของประเทศบรูไน Lim Jock Hoi ปัจจุบันอายุ 66 ปีครับ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรชั้นสูงทางด้านเศรษฐศาสตร์จากประเทศอังกฤษ ก่อนจะกลับเข้ารับราชการในตำแหน่งครูในประเทศบรูไน

จากนั้นท่านได้ย้ายไปทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรจนดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศและการพัฒนาการค้า จากนั้นก็ย้ายไปกระทรวงการต่างประเทศและการค้า จนดำรงตำแหน่งสูงสุดในฐานะปลัดกระทรวง และผลงานที่โดดเด่นที่สุดของท่านก็คือ การดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาของประเทศบรูไนในกรอบการเจรจาการค้าที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลก นั่นคือ Trans Pacific Partnership หรือ TPP ตั้งแต่เริ่มต้นในช่วงที่มีประเทศสมาชิกเพียง 4 ประเทศ ผู้ก่อตั้งนั่นคือ สิงคโปร์ บรูไน นิวซีแลนด์ และชิลี จนถึงวันที่สมาชิกของ TPP เพิ่มขึ้นเป็น 12 ประเทศ และลงนามได้ในที่สุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2016 ก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศถอนตัวในเวลาต่อมา

การเป็นประเทศเล็ก ไม่มีกำลังคน ไม่มีพื้นที่ แต่รํ่ารวยด้วยทรัพยากร ทำให้การประคองตัวของบรูไนในกรอบการเจรจาอย่าง TPP ที่แต่ละประเทศสมาชิกมีความแตกต่างในเกือบจะทุกมิติ และยังมีความต้องการซ่อนเร้น ทำให้ต้องเผชิญประเด็นท้าทายมากมาย แต่ Lim Jock Hoi ก็สามารถเดินผ่านกระบวนการนี้มาได้

เมื่อนำทั้ง 2 ประเด็น สิงคโปร์เป็นประธาน ร่วมกับ เลขาธิการอาเซียนท่านใหม่ Lim Jock Hoi ผมเริ่มมองเห็นความหวังในการสรุปผลการเจรจา และการลงนาม RCEP ข้อตกลงทาง การค้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่มีอาเซียนเป็นจุดศูนย์กลาง ใกล้เข้ามาแล้วครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,330 วันที่ 11 - 13 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9