รู้จักเกาะบาตัม-บินตัน โอกาสธุรกิจท่องเที่ยวไทยในอินโดนีเซีย

07 ม.ค. 2561 | 23:08 น.
TP10-3329-B อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ด้วยจำนวนประชากรกว่า 260 ล้านคน จึงเป็นตลาดที่มีนักลงทุนจากต่างประเทศให้ความสนใจเข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมากในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภคและบริโภค โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมมาแรงที่นักลงทุนจากต่างประเทศจับตามอง

นอกจากอินโดนีเซียจะมีประชากรจำนวนมากแล้ว ยังมีหมู่เกาะจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วย โดยมีจำนวนรวมกว่า 17,000 เกาะ และส่วนใหญ่ยังคงอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ส่งผลให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่โด่งดังไปทั่วโลกคงหนีไม่พ้น เกาะบาหลี สถานที่ท่องเที่ยวที่ถือเป็นหัวใจหลักของอินโดนีเซียและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปเยือนในแต่ละปี นำมาซึ่งเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจำนวนมหาศาล

TP10-3329-1B อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียยังมีเกาะอีกจำนวนมากที่ยังมีศักยภาพและน่าสนใจ รอให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้าไปลงทุน ซึ่งเกาะที่ถือได้ว่ามีศักยภาพและยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับนักลงทุนชาวไทยที่สนใจตลาดการท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย คือ เกาะบินตัน (Bintan) และเกาะบาตัม (Batam) ซึ่งเป็น 2 เกาะขนาดใหญ่ในหมู่เกาะเรียว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะสุมาตรา และอยู่ทางตอนใต้ของสิงคโปร์

เกาะบินตัน เป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ เนื่องจากสามารถเดินทางโดยเรือข้ามฟาก (Ferry) จากสิงคโปร์มายังเกาะบินตัน ในเวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ก็จะนิยมมาเที่ยวในเขตลากอย (Lagoi) ซึ่งเป็นที่ตั้งของรีสอร์ต และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวมาเยือนถึง 712,000 คน เพิ่มจากปี 2559 ที่มีนักท่องเที่ยวเยือนประมาณ 550,000 คน ในขณะที่ เกาะบาตัม ก็เป็นเป้าหมายด้านการท่องเที่ยวสำคัญของนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ มาเลเซีย จีน และญี่ปุ่น สามารถเดินทางโดยเรือข้ามฟาก (Ferry) จากสิงคโปร์มายังเกาะบินตัน ในเวลา 1 ชั่วโมง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนเฉลี่ย 1.5 ล้านคนต่อปี และเป็นสถานที่สำหรับการลงทุนที่สำคัญของนักธุรกิจสิงคโปร์ ในฐานะศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ โรงงานผลิตอิเล็ก ทรอนิกส์ ศูนย์ซ่อมแซมเรือ และอุตสาหกรรมนํ้ามัน เป็นต้น ทั้งนี้ ด้วยศักยภาพของเกาะบินตันและเกาะบาตัม ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียกำหนดให้เกาะทั้งสองเป็นพื้นที่เขตการค้าเสรี (free trade zone) อีกด้วย

TP10-3329-2B ปัจจุบัน เกาะบินตันและเกาะบาตัมเป็นแหล่งลงทุนที่สำคัญของนักลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์ โดยเมื่อปี 2559 สิงคโปร์ลงทุนทั้งสิ้น 26 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 65.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เกาะบินตันและเกาะบาตัมยังเป็นดินแดนแห่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจในตลาดแห่งนี้ โดยเฉพาะเกาะบินตันที่เน้นไปทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการบริการ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐของอินโดนีเซียเตรียมที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะแผนการลงทุนก่อสร้างสนามบิน นอกจากนี้ หน่วยงานภาครัฐท้องถิ่นของเกาะบินตันยังสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม MICE และแผนการพัฒนาโรงแรมขนาดใหญ่ ซึ่งทั้งหมดนี้นักลงทุนไทยมีศักยภาพ สามารถเข้าไปลงทุนในภาคธุรกิจสถานบันเทิง รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ตระดับสากล ในขณะที่เกาะบาตัมถือเป็นเกาะที่มีศักยภาพสำหรับนักลงทุนไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐของเกาะบาตัมได้ให้บริการออกใบอนุญาตสำหรับการลงทุนภายใน 3 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนต่างชาติซึ่งมีแผนการลงทุนจำนวนประมาณไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านรูเปีย (ประมาณ 3.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เป็นต้น นอกจากนี้ ภายในปี 2562 รัฐบาลอินโดนีเซียจะเร่งรัดแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนในเกาะบาตัม และดำเนินการให้เกาะบาตัมเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเต็มรูปแบบอีกด้วย

จากศักยภาพของเกาะบาตัมและเกาะบินตันที่กล่าวมาในเบื้องต้น ประกอบกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในฐานะที่เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้บริษัทผลิตกาแฟของไทยได้เข้าไปจดทะเบียนเพื่อเข้าลงทุนในเขตดังกล่าวแล้ว ดังนั้น นักลงทุนไทยที่สนใจในเกาะบินตันและเกาะบาตัม แห่งนี้ไม่ควรรีรอที่จะเตรียมความพร้อมและศึกษาโอกาสตลาดทางธุรกิจ รวมถึงเร่งคว้าโอกาสและสร้างความร่วมมือทางการค้าการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9