เศรษฐศาสตร์กับการศึกษา สู่ความเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

07 ม.ค. 2561 | 00:00 น.
TP07-3328-3 ในวิชาเศรษฐศาสตร์นั้น ในขั้นหนึ่ง เรามองว่าการศึกษาเป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรมนุษย์ หรือทุนมนุษย์ในตัวคนหนึ่งๆ หากวัดเป็นราคาก็สามารถสะท้อนออกมาเป็นค่าตอบแทน หรือรายได้ที่ เขาได้รับ หากทว่าประโยชน์ของการศึกษาไม่ได้จำกัดเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลหรือเกี่ยวข้อง กับค่าตอบแทนในตลาดแรงงานเท่านั้น นักเศรษฐศาสตร์ยังมองว่าการศึกษาของบุคคลบุคคลหนึ่งนั้น มีคุณค่าต่อผู้อื่นที่ไม่ใช่ตัวเขาและต่อสังคมที่เขาอยู่ ซึ่งเราเรียกประโยชน์นี้ว่า positive externalities หรือผลกระทบภายนอกเชิงบวก

ยกตัวอย่างเช่น Cochrane at al. (1982) พบว่า การตายของทารกจะเกิดน้อยกว่าในแม่ที่มีการศึกษาสูงกว่า และเด็กๆ ที่มีแม่ที่มีการศึกษาสูงกว่า จะได้รับการสนับสนุนให้ไปโรงเรียนมากกว่า Dee (2003) พบว่า ในสังคมที่ประชากรเฉลี่ยมีการศึกษาสูงกว่า จะมีการเอาใจใส่และมีส่วนร่วมจากพลเมือง และมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งมากกว่า
เราจะเห็นได้ว่าผลกระทบ ภายนอกเชิงบวกของการศึกษาเหล่านี้ นอกจากจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคมแล้วยังมี non-market value หรือคุณค่าที่นอกเหนือไปจากค่าตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือรายได้ของแต่ละบุคคลอีกด้วย การศึกษาส่งผลกระทบที่ดีต่อสุขภาพ ต่อการศึกษาของคนรุ่นต่อๆ ไป ต่อความเข้มแข็งทางด้านประชาสังคมของสังคมนั้นๆ

และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีงานวิจัย (Meyer, 2015; Chankrajang and Muttarak, 2017) บ่งชี้ว่า การศึกษาส่งผล กระทบที่ดีต่อความเป็นมิตรและพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย จากการใช้ข้อมูลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ Chankrajang and Muttarak (2017) พบว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่พบว่า มีความกังวลและเป็นห่วงในสิ่งแวดล้อมที่ต่างกันระหว่างคนที่มีการศึกษาต่างกัน แต่เราพบว่า การศึกษาช่วยให้คนมีพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หนึ่งปีที่เพิ่มขึ้นของการศึกษา ทำให้บุคคลหนึ่งๆ มีแนวโน้มที่จะใช้ถุงผ้า หลอดประหยัดไฟ และอุปกรณ์ประหยัดไฟอื่นๆ เป็นประจำมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

TP07-3328-1 จะเห็นได้ว่าการหันมาทำ พฤติกรรมเหล่านั้นเป็นประจำต้อง อาศัยความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและเครื่องมืออุปกรณ์ที่จะมาช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐาน และเป็นพฤติกรรมที่ต้องใช้ความพยายามในการเลิกพฤติกรรมที่ทำให้เราสะดวกสบายที่อาจเคยทำอยู่มาก่อน

ซึ่งการเรียนรู้ในโรงเรียนนั้น ในขั้นหนึ่ง ก็มีวิชาที่ช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น นอกจากนั้นการมีทักษะพื้นฐานในการอ่าน เขียน จับใจความและวิเคราะห์ ที่ได้จากการไปโรงเรียน ก็อาจจะช่วยให้บุคคลหนึ่งๆ สังเคราะห์และวิเคราะห์เรื่องราวและเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นต้น

เมื่อเรามาวิเคราะห์ผลของการศึกษาต่อพฤติกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ไม่ต้องการความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม แต่อาจทำเพราะแรงจูงใจอื่น รวมถึง การประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ถอดปลั๊ก ปิดไฟ ปิดนํ้า เมื่อไม่ใช้แล้วเป็นประจำ ก็ไม่พบว่าการศึกษามีผลต่อพฤติกรรมเหล่านั้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่อย่างใด

เป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบันว่า ปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่สำคัญที่โลกและเราทุกคนกำลังเผชิญอยู่ การแก้ปัญหานั้น ไม่สามารถทำได้จากภาครัฐ หรือเอกชนที่ถูกมองว่าเป็นผู้สร้างมลพิษแต่เพียงอย่างเดียว แท้จริงแล้วพฤติกรรมของคนแต่ละคนเมื่อรวมกันแล้วนับได้ว่าเป็นผู้ใช้สิ่งแวดล้อมและผู้ทำลายที่เป็นหน่วยใหญ่ที่สุดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจง่ายที่สุดและทำได้เลยก็คือการหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

งานวิจัย เช่น Meyer (2015) และ Chankrajang and Muttarak (2017) ชี้ว่าการศึกษามีส่วนอย่างมากในการทำให้คนมีพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถึงแม้ว่าในงานศึกษาทั้ง 2 ชิ้น ใช้การศึกษาในโรงเรียนในการวิเคราะห์ และเราก็มักจะมองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ในอีกแง่หนึ่งนั้น การศึกษาคือการปลูกฝัง การเรียนรู้ที่ไม่ มีวันสิ้นสุด การปลูกฝังความรักและความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในใจเราเอง และการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อประโยชน์ของโลกในระยะยาว ก็สามารถทำได้เดี๋ยวนี้และเริ่มได้ที่ตัวเราเองทุกคนเช่นกัน

เอกสารอ้างอิง
Chankrajang, T. and Muttarak, R., 2017. Green returns to education: Does schooling contribute to pro-environmental behaviours? Evidence from Thailand. Ecological Economics, 131, pp.434-448.
Cochrane, S.H., Leslie, J. and O’Hara, D.J., 1982. Parental education and child health: intracountry evidence. Health policy and education, 2 (3-4), pp.213-250.
Dee, T.S., 2004. Are there civic returns to education?. Journal of Public Economics, 88(9), pp.1697-1720.
Meyer, A., 2015. Does education increase pro-environmental behavior? Evidence from Europe. Ecological economics, 116, pp.108-121.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,329 วันที่ 7 - 10 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9