รู้มั้ย! นักท่องเที่ยว 'จีน-ฝรั่ง' ใครมือเติบ-จ่ายหนัก

07 ม.ค. 2561 | 04:43 น.
ต้องบอกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ที่เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด จนทำรายได้เข้าประเทศก่อให้เกิดการจ้างงาน กระจายเม็ดเงินลงไปในระบบถึง 2.78-2.79 ล้านล้านบาท เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8,000-10,000 ล้านบาท มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนไทยกว่า 35 ล้านคน เฉพาะตลาด จีน รัสเซีย ยุโรป ถือว่ามากันอย่างหนาแน่นยาวไปถึงต้นปี 2561

เฉพาะการเดินทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมินั้น สูงเฉลี่ยวันละ 150,000-200,000 คน

เฉพาะกรุงเทพมหานครนั้นกลายเป็น “ชุมทางของนักท่องเที่ยว” แซงหน้ามหานครใดๆในโลกไปแล้ว

เว็บไซต์ Post Office TravelMoney รายงานผลการจัดอันดับราคาค่าใช้จ่ายการท่องเที่ยวระยะยาวของเมืองต่างๆ ทั่วโลก พบว่ากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่สามารถท่องเที่ยวแบบใช้เวลานาน แต่คุ้มค่ามากที่สุดอันดับ 1 ของโลกประจำปี 2560

นักท่องเที่ยวยังได้รับบริการในระดับคุณภาพด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆ ทั้งค่าโรงแรมที่พัก ค่าใช้จ่ายในการเข้าชมสถานที่สำคัญ ค่าพาหนะ และค่าอาหาร

ผลการสำรวจยังระบุว่า กรุงเทพฯ ได้รับการยกย่องจากนักท่องเที่ยวว่า เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวา เต็มไปด้วยกิจกรรมและวัฒนธรรมที่น่าสนใจ มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย โดยเฉพาะวัดวาอารามและพระบรมมหาราชวังที่สวยงาม

P1100437-1-696x385

การสำรวจครั้งนี้ยังระบุว่า ค่าใช้จ่ายโดยรวม 3 วัน สำหรับการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ จะมีประมาณ 13,700 บาท
ถึงตอนนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวได้กลายเป็น “เสาคํ้ายัน” ในระบบเศรษฐกิจของประเทศไปแล้ว โดยมีนํ้าหนักในสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ถึง 18%

แต่เชื่อหรือไม่ว่า นักท่องเที่ยวที่มาไทยนั้นยังจำกัดวงแคบอยู่ไม่กี่เมือง ไม่กี่ที่ กรุงเทพฯ วัดพระแก้ว ล่องนํ้าเจ้าพระยา อยุธยา เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย พังงา พัทยา เกาะล้าน เขาหลัก พังงา แม่ฮ่องสอน สุโขทัย ฯลฯ ที่สำคัญชั่วนาตาปีเราขายแต่ศิลปะวัดวาอาราม ธรรมชาติ ชีวิตยามราตรี และเซ็กซ์

โชคดีที่ในระยะปีที่ผ่านมาเริ่มมีสินค้าด้านการท่องเที่ยวตัวใหม่เกิดขึ้น นั่นคือ อาหาร กิน ดื่มข้างทาง สตรีตฟู้ด ให้ดังก้องโลก แต่จนถึงบัดนาว เรายังไม่สร้างมาตรฐานสตรีตฟูด ให้มีระดับ มีระเบียบ มีความสะอาด หรือแหล่งที่ดึงคนมาใช้จ่ายอย่างเป็นระบบที่มีการจัดการ มีมาตรฐานราคา มาตรฐานของรสชาติ แบบไทยในระดับสากล

ถ้าทำได้เงินจะไหลมาสู่มือคนระดับล่างที่ด้อยโอกาสในการยกระดับอาชีพได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่รัฐบาลกลับปล่อยให้เดินกันไปตามยถากรรม ตามริมถนนตรอก ซอก ซอย อย่างไร้ระเบียบ

ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย ใครใคร่เรียกเก็บเงินริมถนน เก็บ...ช่างเจ็บปวดใจยิ่งนัก

ผมเสนอว่า ทางรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ถ้าหากจะปั้นให้รายได้การท่องเที่ยวเป็นหัวใจของรายได้ประเทศ

เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นเป็นรายรับสุทธิที่เราได้จริงๆ โดยมีต้นทุนการดำเนินการที่น้อยที่สุด

แต่หากเราไม่รู้เรา เราไม่มีโอกาสรู้เขา และสร้างการตลาดที่โดนใจเขาแน่นอน จริงมั้ยครับ...

ผมมีชุดข้อมูลในเรื่องรายได้การท่องเที่ยวที่ลองมาพิจารณาขบคิดหาทางขยายรายได้เหล่านี้ให้เป็นรูปธรรมกัน
คุณรู้หรือไม่ว่า รายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติที่เข้ามาในไทยนั้นเป็นอย่างไร…ใช้จ่ายกันตรงไหน

ในปี 2559 นักท่องเที่ยวกลุ่มเอเชียที่เข้ามาแบบกรุ๊ปทัวร์ในไทยเข้าใช้จ่ายรวม 255,619 ล้านบาท เขาช็อปปิ้งกัน 79,640 ล้านบาท ใช้จ่ายในหมวดความบันเทิง 24,986 ล้านบาท ใช้จ่ายชมเมืองไซต์ซีอิ้ง 20,474 ล้านบาท จ่ายค่าที่พักอาศัย 54,021 ล้านบาท จ่ายค่าอาหารเครื่องดื่ม 43,569 ล้านบาท จ่ายค่าการเดินทางในท้องถิ่น 21,583 ล้านบาท จ่ายค่าหมอค่ายา 746 ล้านบาท จ่ายค่าเบ็ดเตล็ด 6,598 ล้านบาท

กลุ่มนักท่องเที่ยวที่จ่ายมากที่สุดคุณว่าใคร...จีนครับจีน เขาใช้จ่ายรวม 164,116 ล้านบาท ช็อปปิ้งไป 50,506 ล้านบาท จ่ายซื้อหาอาหารกับค่าที่พักเฉลี่ยรายการละ 31,956 ล้านบาท

กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวยุโรปที่เป็นกรุ๊ปทัวร์ที่เรารักนักหนานั้น ใช้จ่ายรวมในเดือนมกราคม-ธันวาคม 2559 รวม 69,194 ล้านบาท จ่ายค่าช็อปปิ้ง 13,501 ล้านบาท จ่ายค่าซื้อหาความบันเทิงเริงรมย์ 5,887 ล้านบาท จ่ายค่าชมเมือง 3,680 ล้านบาท จ่ายค่าที่พัก 20,739 ล้านบาท จ่ายค่าอาหารเครื่องดื่ม 15,814 ล้านบาท จ่ายค่าการเดินทางในไทยรวม 7,733 ล้านบาท จ่ายค่าหมอ พยาบาล 194 ล้านบาท จ่ายเบ็ดเตล็ด 1,641 ล้านบาท

CC-113-e1495987616143

ในกรุ๊ปทัวร์กลุ่มนี้ประเทศที่จ่ายหนักที่สุดใครรู้มั้ยครับ...รัสเซียครับ เขาใช้จ่ายรวมกัน 23,717 ล้านบาท อันดับ 2-3-4-5 คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ยุโรปตะวันออก ตกประมาณ 6,200-6,700 ล้านบาท

กรุ๊ปทัวร์ต่อมาที่ใช้จ่ายในเมืองไทยที่เราหลงใหลมากคือกลุ่มอเมริกา ใช้จ่ายบ้านเราปีละ 8,797 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 1,900 ล้านบาท ซื้อหาความสุข บันเทิง 795 ล้านบาท ชมเมืองเรา 522 ล้านบาท จ่ายค่าที่พัก 2,674 ล้านบาท จ่ายค่าอาหารการกิน 1,660 ล้านบาท ค่าเดินทาง 978 ล้านบาท

กรุ๊ปทัวร์ต่างประเทศต่อมาที่ใช้จ่ายในเมืองไทยคือ เอเชียใต้ บังกลาเทศ อินเดีย เนปาล ปากีสถาน ฯลฯ กลุ่มนี้ใช้จ่ายบ้านเรา 14,662 ล้านบาท ช็อปปิ้งสนั่น 4,577 ล้านบาท ซื้อหาความบันเทิง 1,545 ล้านบาท ชมเมือง 717 ล้านบาท จ่ายค่าที่พัก 3,397 ล้านบาท จ่ายค่าอาหารการกิน 2,731 ล้านบาท จ่ายค่าเดินทาง 1,334 ล้านบาท กลุ่มที่จ่ายมากสุดคืออินเดียร่วม 11,562 ล้านบาท

กรุ๊ปทัวร์ที่น่าสนใจต่อมาคือ กลุ่มตะวันออกกลาง และโอเชียเนีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 2 กลุ่มนี้ใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในไทยร่วม 24,000 ล้านบาท ช็อปปิ้งกันร่วม 5,300 ล้านบาท ซื้อหาความบันเทิงร่วม 2,200 ล้านบาท ชมเมืองกันกว่า 1,700 ล้านบาท จ่ายค่าที่พัก 5,300 ล้านบาท ซื้อหาอาหารกินร่วม 4,100 ล้านบาท ค่าเดินทางร่วม 1,900 ล้านบาท เบ็ดเตล็ดร่วม 500 ล้านบาท

แต่เชื่อหรือไม่ว่ากลุ่มนักท่อง เที่ยวต่างประเทศที่เดินทางมาแบบไม่ใช่กรุ๊ปทัวร์นั้นใช้จ่ายมากกว่าหลายเท่าตัว เพราะตัวเลขที่สรุปรวมนั้นปาเข้าไป 628,283 ล้านบาท เอเชียตะวันออกใช้จ่ายปาเข้าไป 203,369 ล้านบาท เฉพาะจีนกลุ่มเดียวใช้จ่ายในไทยร่วม 287,575 ล้านบาท ยุโรปใช้จ่าย 368,621 ล้านบาท อเมริกา 91,089 ล้านบาท เอเชียใต้ 45,012 ล้านบาท ตะวันออกกลางและโวนโอเชียเนียรวมกันกว่า 115,300 ล้านบาท

เห็นข้อมูลแบบนี้ เราจะตัดสินใจสร้างการตลาดแบบไหน และทำอย่างไรจะดึงนักท่องเที่ยวเหล่านั้นมาใช้จ่าย ใครคิด ได้ ช่วยตอบทีครับ

นายกฯลุงตู่จะได้ปูทางตรงจุด...

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,328 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9