‘ปรับ4ป.’ เพื่อหลุดกับดักสกัดดาวรุ่ง

06 ส.ค. 2560 | 23:38 น.
MP27-3285-2 สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน กลับมาพบกับเทคนิคการวางแผนทางการเงินดีๆ ในคอลัมน์มันนี่ ดีไอวาย 4.0 กันนะครับ ในทุกวันนี้หลายๆ คนหันมาให้ความสนใจในเรื่องการวางแผนการเงินกันมากขึ้น และเริ่มหันมาเก็บออมเงินเพื่อความมั่งคั่งและมั่นคงในอนาคต แต่ก็มีอีกหลายๆ คนอีกเช่นกันที่มักจะมีคำถามกับตัวเองว่าทำไมถึงยังไม่ประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เสียที นั่นอาจเป็นเพราะว่าคนเหล่านั้นอาจยังติดกับดักสกัดดาวรุ่งแบบไม่รู้ตัว ซึ่งคอลัมน์ในวันนี้ก็จะมานำเสนอให้ท่านผู้อ่านได้เห็นว่ากับดักสกัดดาวรุ่งที่ว่านั้นมีอะไรบ้าง และจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อให้หลุดกับดักทางการเงินต่างๆ ใน “4 ป. ที่ต้องปรับ เพื่อหลุดกับดักสกัดดาวรุ่ง” ดังต่อไปนี้ครับ

1. สาย “เปย์”
เริ่มต้นกับดักแรกด้วย “สายเปย์” กับการใช้จ่ายเงินในจำนวนที่มากกว่าที่หามาได้ อยากได้อะไรก็ซื้อหาโดยไม่ได้ดูว่าในแต่ละเดือนเรามีรายได้และรายจ่ายเท่าไหร่ เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแต่ละเดือนหรือไม่ โดยตามหลักแล้วเราไม่ควรใช้จ่ายเงินเกิน 60% ของรายได้ที่เราได้รับ อย่างเช่น หากท่านผู้อ่านได้รับเงินเดือน 15,000 บาท ท่านก็ไม่ควรจะใช้จ่ายทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายผันแปรต่างๆ เกินเดือนละ 9,000 บาท เป็นต้น เพื่อที่ท่านจะได้สามารถเก็บเงินอีกส่วนหนึ่งเพื่อเก็บออมไว้ได้ แต่ถ้าในกรณีที่ท่านผู้อ่านมีความจำเป็นในการที่ต้องใช้เงินจริงๆ ผมแนะนำให้กันในส่วนที่สองที่เป็นการเพิ่มความสุขให้กับตัวเองออกมาใช้ได้อีกไม่เกิน 20% ในการซื้อของ แต่หากไม่จำเป็นจริงๆ ผมก็ขอแนะนำให้นำเงินส่วนนี้เก็บออมไว้เพื่อนำไปลงทุนจะดีกว่าครับ

2. สาย “ปรนเปรอ”
กับดักต่อมาก็คือ“สายปรนเปรอ” ซึ่งก็คือคนที่ชอบใช้เงินซื้อสิ่งของเพื่อปรนเปรอความสุขให้กับตัวเองมากเกินความจำเป็น เนื่องจากคนเราส่วนใหญ่นั้นมักมีความอยากได้อยากมีแบบไม่มีที่สิ้นสุด เห็นใครมีอะไรก็อยากได้อยากมีเหมือนคนอื่นไปเสียหมด จนบางครั้งอาจทำให้ลืมนึกถึงความสมเหตุสมผล และความจำเป็นที่แท้จริงว่าสิ่งของสิ่งนั้นมีความจำเป็นและเหมาะสมกับตัวเราเองหรือไม่ โดยในกับดักนี้ผมขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านใช้สติในการพิจารณาก่อนจะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่ฟุ่มเฟือยแทนการใช้อารมณ์ของตัวเองในทุกๆ ครั้งนะครับ

MP27-3285-1 3. สาย “โปรโมชัน”
กับดักที่สาม “สายโปรโมชัน” สำหรับสายนี้ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่จะต้องถูกกับดักนี้สกัดดาวรุ่งอย่างแน่นอนโดยเฉพาะเวลาไปเดินห้างสรรพสินค้าก็จะต้องวิ่งตรงเข้าไปหาป้าย Sale ทุกครั้ง โดยหลายคนอาจลืมคิดไปว่าของที่กำลังลดราคาอยู่นั้นมีความจำเป็นต่อการซื้อหรือไม่ หรือซื้อเพราะมองว่าของลดราคาเท่านั้น โดยในกับดักนี้ผมมีข้อแนะนำง่ายๆ เพียงแค่ให้ท่านผู้อ่านใช้สติในการหักห้ามใจให้มากขึ้น เลิกมอง เลิกสนใจป้ายลดราคาต่างๆ แต่ถ้าในกรณีที่สิ่งของนั้นมีความจำเป็นที่ต้องใช้งานจริงๆ ก็ค่อยทำการพิจารณาตัดสินใจอีกครั้ง โดยให้ดูว่าท่านสามารถเลือกประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนไหนลงได้อีกบ้าง เพื่อนำมาทดแทนการซื้อของดังกล่าว และเพื่อไม่ให้กระทบกับแผนการเงินที่ตั้งไว้

4. สาย “รูดปรื๊ด”
มาถึงกับดักสุดท้ายกับ “สายรูดปรื๊ด” ต้องยอมรับว่าการจับจ่ายใช้สอยในปัจจุบันมีความสะดวกสบายมากขึ้นซื้อกันง่ายขึ้น ต้องการสิ่งใดก็สามารถใช้บัตรเครดิตรูดซื้อได้ทันทีทันใด ทั้งผ่อน 0% บ้าง ดอกเบี้ยถูกบ้าง สามารถทยอยจ่ายได้บ้าง โดยลืมมองว่าสิ่งที่กำลังทำดังกล่าวคือการนำเงินในอนาคตมาใช้ จึงทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหนี้ที่มาจากบัตรเครดิต โดยในกับดักสายนี้ท่านผู้อ่านต้องมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ไม่ใจอ่อนกับการผ่อนสินค้าแบบ 0% เพราะจากการผ่อน 1 อย่างจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่การผ่อนสินค้าหลายๆ อย่างต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็จะกลายเป็นเศรษฐีเงินผ่อนแบบไม่รู้ตัว ผ่อนทุกบัตรเต็มทุกวงเงิน และจากการผ่อนแบบไม่เสียดอกเบี้ยก็จะกลับกลายเป็นเสียดอกเบี้ยในที่สุดนั่นเอง

สุดท้ายนี้ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวท่านเองดูนะครับ ซึ่งถ้าหากท่านกำลังติดกับดักข้อใดข้อหนึ่งอยู่ ก็ขอให้ท่านรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เร็วที่สุด เพื่อความสำเร็จในเป้าหมายทางการเงินที่ท่านได้วางไว้นะครับ แล้วกลับมาพบกันใหม่ในครั้งหน้า สำหรับวันนี้สวัสดีครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560