หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร ปฏิบติตามกฎหมายร่วมลงทุนหรือไม่ (จบ)

06 ส.ค. 2560 | 23:15 น.
TP07-3285-b ในกรณีของโครงการหอชมเมืองนั้น ได้ยกเว้นให้มีการคัดเลือกเอกชนโดยไม่ประมูลตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน ข้อ 24 ของประกาศโครงการมูลค่าตํ่ากว่า 5 พันล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า โครงการนั้นเป็นโครงการตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อให้แน่ใจว่าได้เอกชนคู่สัญญาที่สามารถจัดทำโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการได้อย่างมีคุณภาพ คณะรัฐมนตรีจึงได้กำหนดเงื่อนไขไว้ว่าเอกชนคู่สัญญานั้นจะต้องเป็นผู้จัดหาเงินทุนทั้งหมดที่จำเป็นในการพัฒนาโครงการ และกำหนดให้เอกชนต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้ชั้นสูงซึ่งจะเป็นต้นแบบในการก่อสร้างอาคารสูงซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ การศึกษา คุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นการยกเว้นไม่ประมูลของคณะรัฐมนตรีสำหรับโครงการหอชมเมืองจึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายร่วมลงทุน

ในส่วนประเด็นที่ว่าการยกเว้นไม่ประมูลของโครงการหอชมเมืองจะทำให้รัฐเสียประโยชน์หรือเป็นการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเอื้อประโยชน์เอกชนหรือไม่นั้น สำหรับประเด็นนี้คงต้องดูกันต่อไปในส่วนของผลประโยชน์ตอบแทนของเอกชนในสัญญาของโครงการหอชมเมืองตามความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า ในโลกสมัยใหม่นั้น หากจะมองผลประโยชน์ที่รัฐจะได้รับจากโครงการเพียงแค่เม็ดเงินที่รัฐได้รับจากโครงการโดยตรง เช่น ค่าเช่าที่ดินของรัฐในโครงการ คงเป็นมุมมองที่ไม่น่าจะถูกต้องนัก เพราะผลประโยชน์ของรัฐที่เกิดขึ้นจากโครงการนั้นมีหลากหลายมิติโดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่เม็ดเงินที่รัฐได้รับจากโครงการโดยตรง ผลประโยชน์ของรัฐจากโครงการหอชมเมืองนั้นควรพิจารณาถึงประโยชน์อื่นๆ เช่น โอกาสที่เศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตขึ้นหรือการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการเกิดขึ้นของโครงการ ตลอดจนการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีชั้นสูงที่ใช้ในโครงการให้แก่หน่วยงานภาครัฐและคนไทย เป็นต้น

TP07-3285-c โดยในกรณีโครงการหอชมเมืองก็เช่นกัน โครงการดังกล่าวของรัฐบาลเป็นโครงการที่จะน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชฯ มาเผยแพร่และเป็นต้นแบบสำหรับประชาชนคนไทย และยังเป็นโครงการที่รัฐบาลเน้นการเผยแพร่ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่ประชาชนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาอีกด้วย

ดังนั้น หากพิจารณาถึงประโยชน์ในหลายมิติที่จะเกิดขึ้นจากการทำโครงการหอชมเมืองซึ่งได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดครบถ้วน และเป็นไปตามเงื่อนไขที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ว่าโครงการนี้รัฐไม่ต้องออกเงินลงทุนเลย เพราะเอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมดแล้ว คงจะหาเหตุผลที่กล่าวว่ารัฐจะเสียประโยชน์จากการทำโครงการหอชมเมืองได้ยาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560