จีนทำได้ จากชนบทที่ยากจน สู่ความเจริญที่มั่งคั่ง

06 ส.ค. 2560 | 23:05 น.
TP06-3285-1A ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจีนมีการจัดสัปดาห์ความร่วมมือทางการศึกษาระหว่างจีนกับอาเซียน (China ASEAN Education Cooperation Week) วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างจีนและอาเซียนในด้านเศรษฐกิจและการเมืองโดยอาศัยความร่วมมือทางการศึกษาและการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เป็นกลไกในการเชื่อมต่อและเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างประเทศ

ในการจัดสัปดาห์ความร่วมมือทางการศึกษาฯดังกล่าว ทุกครั้งจะมีการจัด ณ เมืองกุ้ยหยาง มณฑลกุ้ยโจว โดยในปี 2560 นี้เป็นการจัดครั้งที่ 10 และในครั้งนี้จีนได้เชิญท่านรองนายกรัฐมนตรีจากประเทศไทยไปร่วมงาน และมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาฯ เป็นตัวแทนร่วมเปิดงาน เป็นงานระดับรัฐมนตรีในมณฑลเล็กๆในงานดังกล่าวมีแขกรับเชิญจำนวนมากกว่า 2,000 คนมีการจัดกิจกรรมทางวิชาการ อาทิ การสัมมนาระดับมหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา การประชุมทั้งด้านการให้บริการการศึกษาหรือแม้กระทั่งการเชื่อมสัมพันธไมตรีโดยการจัดการแข่งขันฟุตบอลระหว่างนักศึกษานานาประเทศ จากทั้งอาเซียนและจีน ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่มีการจัดงานนี้มีสถาบันการศึกษาเข้าร่วมมากกว่า 2,700 แห่งและมีการลงนามในข้อตกลงมือร่วมกันอีกเกือบ 1,100 สัญญา

การเดินทางมากุ้ยหยางครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมการสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่สอนเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ โดยเดินทางพร้อมกับคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯคนปัจจุบัน ซึ่งคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ ได้รับเกียรติให้นำเสนอข้อมูลพื้นฐานและโอกาสความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการเป็นสถาบันแรกจากทั้งหมด 22 สถาบันเจ้าภาพร่วมประกอบไปด้วย ศูนย์อาเซียนและจีน (ASEAN China Center) ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนโดยตรง และ University of International Business and Economics (UIBE) เป็นเจ้าภาพในการสร้างเครือข่ายวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ UIBE เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสัดส่วนจำนวนนักศึกษาและอาจารย์จากต่างประเทศมากที่สุดในประเทศจีน และถูกจัดลำดับที่หนึ่งทางด้านเศรษฐศาสตร์การเงินของประเทศจีน

TP06-3285-2A สิ่งที่น่าสนใจคือการได้เห็นการพัฒนาของมณฑลกุ้ยโจวที่รัฐบาลจีนสามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาอันสั้น เดิมกุ้ยโจวนั้นจัดว่าเป็นมณฑลที่ค่อนข้างยากจนและมีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ตํ่าเมื่อเทียบกับมณฑลอื่นๆ ประชากรประกอบไปด้วยชนกลุ่มน้อยรวมกันเกือบ 20 เผ่าซึ่งประมาณว่าเป็นจำนวน 40% ของจำนวนประชากรในมณฑล ที่มีประชากรประมาณเกือบ 40 ล้าน น เมืองกุ้ยหยางนั้นเป็นเมืองหลวงของมณฑลกุ้ยโจวและเริ่มมีการพัฒนาเมืองในไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากมณฑลที่ไม่มีถนนหนทางมากนักทำให้การติดต่อระหว่างเมืองเป็นไปได้ยากชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยภูเขาสูงที่มีอากาศที่ดีตลอดทั้งปี มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีสถานที่ท่องเที่ยวจำนวนมากซึ่งรวมถึงสถานที่ที่ถูกจัดว่าเป็นมรดกโลกถึง 2 แห่ง

ในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมากุ้ยโจวพัฒนาไปเร็วมาก มีระบบรถไฟความเร็วสูง มีการเชื่อมต่อทางถนนด้วยไฮเวย์กว้างข้างละ 3 เลน เป็นระยะทางทั้งหมด 5,000 กิโลเมตรซึ่งถูกสร้างในระยะเวลาไม่กี่ปี มีสนามบินที่ทันสมัยที่ถูกสร้างจากการต้องตัดหน้าภูเขามากกว่า 10 ลูกเพราะพื้นที่เดิมนั้นเป็นพื้นที่เขาทั้งสิ้น มีการสร้างศูนย์ประชุมในระดับนานาชาติที่นอกจากจะใช้ประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายทางการศึกษาระหว่างจีนและอาเซียนเป็นประจำทุกปีแล้ว ในปี 2560 ยังใช้จัดประชุมที่เกี่ยวข้องกับ Big Data และนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ในระดับชาติของจีน อีกทั้งมีโรงแรมที่ทันสมัยโอ่โถงอีกหลายแห่ง

ที่น่าจับตามองคือกุ้ยโจว กำลังจะเป็นศูนย์กลางทางด้านการบิน อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเลนส์ จากการสำรวจเส้นทางด้วยรถในปริมณฑลของเมือง กุ้ยหยางพบว่ามีการก่อสร้างอย่างหนาแน่น มีเขตเศรษฐกิจพิเศษที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีจำนวนหลายแห่ง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลจีนมีความร่วมมือกับรัฐบาลมณฑลในการพัฒนามณฑลที่ล้าหลังไปสู่การเจริญเติบโตที่รวดเร็วอีกทั้งมีการส่งเสริมความร่วมมือทางการศึกษาในระดับนานาชาติและเป็นศูนย์กลางการจัดการสัมมนาเครือข่ายการศึกษาระหว่างจีนและอาเซียน

จากการได้เข้าร่วมการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายทางด้านการศึกษาระหว่างจีนและอาเซียนครั้งนี้ได้เห็นบทบาทการพัฒนาของมหาวิทยาลัยต่างๆในอาเซียนอีก 8 ประเทศ (ขาดบรูไนที่ไม่ได้มา) สิ่งที่เห็นปฐมบทของการที่ต้องเร่งพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยไปควบคู่กับความร่วมมือในระดับนานาชาติ และได้เห็นการพลิกผันจากมณฑลที่เคยถูกจัดว่าเป็นชนบทและมีประชากรยากจนจำนวนมากให้กลายเป็นเมืองที่น่าลงทุน น่าท่องเที่ยวจากการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและการมีแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลก ทั้งนี้ต้องขอบคุณหน่วยงานเจ้าภาพที่ได้เชิญให้เข้าร่วมงานประชุมเป็นอย่างยิ่งเพราะได้เห็นสิ่งที่ตื่น ตาตื่นใจหลายอย่างครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,285 วันที่ 6 -9 สิงหาคม พ.ศ. 2560