สายรุ้ง จากโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์

03 ส.ค. 2560 | 23:40 น.
MP31-3284-A แม้ว่าบางประเทศในโลก เช่น ญี่ปุ่น และเยอรมนี กำลังปิด หรือระงับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นนั้น แม้ว่าจะมีความจำเป็นด้านการใช้ไฟฟ้าอย่างมาก แต่อุบัติภัยที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เมืองฟุกุชิมะหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2554 กระทั่งเกิดกัมมันตรังสีรั่วไหลและปนเปื้อน ก็ทำ ให้รัฐบาลต้องทบทวนนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้และไล่ปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เกือบหมดทุกแห่งด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย แต่ก็ต้องยอมรับว่า อีกหลายๆ ประเทศในโลกยังจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์เพื่อนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ของประชาชนและ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

ความปลอดภัยและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรวมทั้ง วิถีชีวิตของชุมชนรอบโรงงาน เป็นประเด็นสำคัญที่ทุกๆ โครงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก เมื่อเร็วๆ นี้ในการประกวดแบบโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มัวร์ไซด์ (Moorside Power Plant) ที่เมืองคัมเบรีย ประเทศอังกฤษ บริษัท วัน ครีเอทีฟ เอ็นไวรอนเมนท์ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของบริษัทออกแบบที่ได้รับการคัดเลือกเข้ารอบสุดท้าย จึงได้นำเสนอแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ตั้งตระหง่านอย่างกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในชุมชน มีบริเวณส่วนกลางเป็นสวนหย่อมผู้คนสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ และที่สำคัญคือ หอคอยคู่ ทรงผลึกแก้วใสที่สามารถยิงแสงและละอองไอนํ้า เพื่อสร้างรุ้งกินนํ้าเป็นสะพานโค้งเหนือท้องฟ้าโรงงาน เป้าหมายก็เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีและเป็นมิตร ส่วนบริเวณโดยรอบโรงงานนั้นเรียกว่า ดิสคัฟเวอรี พาร์ก (Discovery Park) มุ่งสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานนิวเคลียร์สำหรับเยาวชนและผู้สนใจ

ผู้บริหารของวัน ครีเอทีฟ เอ็นไวรอนเมนท เจ้าของผลงานออกแบบชิ้นนี้กล่าวว่า แนวคิดการสร้างรุ้งกินนํ้าเหนือโรงไฟฟ้านั้น ได้รับ แรงบันดาลใจงานบทประพันธ์ของวิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ กวีชาวอังกฤษที่เคยแต่งบทกวีบรรยายความงามของเมืองคัมเบรียไว้ว่า หัวใจฉันโลดเต้นเมื่อได้เห็นรุ้งงามบนนภา (My heart leaps up when I behold a rainbow in the sky)

การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์มัวร์ไซด์มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2024 หรือในอีก 7 ปีข้างหน้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกแบบที่มีผู้ส่งเข้าประกวดตามโครงการที่ได้รับการสนับสนุน โดยสถาบัน Landscape Institute และ Royal Institute of British Architects (RIBA)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560