'Trump Doctrine' สิ้นมนต์ขลัง!

05 ส.ค. 2560 | 01:00 น.
MP20-3248-DD ฝรั่งบอกว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศพร้อมกับคำว่า “ทรัมป์ ดอคทรีน” หรือปฏิญญาของนายทรัมป์ โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจที่เขาได้ประกาศถึงนโยบายอันหลากหลาย ทั้งด้านภาษี การค้า และการลงทุนในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงานและการเติบโตของประเทศ ภายใต้คำว่า “อเมริกา เฟิสต์” (America First) หรือ อเมริกาต้องมาก่อน

“ทรัมป์ ดอคทรีน” (Trump Doctrine) ถูกมองว่าจะเป็นตัวที่มากระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯให้เติบโตขึ้นได้ โดยทรัมป์ตั้งเป้าไว้ที่การเติบโตปีละ 3% ทีเดียว ถือว่าสูงอย่างมาก ซึ่งภายใต้ปฏิญญาทรัมป์นั้น แนวนโยบายต่างๆ หลายคนก็น่าจะรู้ดีอยู่แล้วครับ ไม่ว่าจะเป็นการดึงให้การผลิตกลับมาตั้งฐานในสหรัฐฯอีกครั้ง การปรับลดภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงดูดให้เอกชนสหรัฐฯกลับบ้าน และเพื่อการจ้างงาน รวมไปถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ และที่ทำเอาโลกหวาดผวาก็คือการลดการเสียดุลการค้าต่างประเทศอันจะนำมาซึ่งการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศมากขึ้น และที่ลืมไม่ได้ก็คือการลดกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เพื่อเปิดทางให้เอกชนสหรัฐฯทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น และรวมไปถึงการลดกฎระเบียบของภาคการเงิน การธนาคารเพื่อให้มีการปล่อยกู้ และการลงทุนมากขึ้น

“ปฏิญญาทรัมป์” นี่เองครับ ที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯพุ่งกระฉูดมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว พร้อมๆกับความหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นจะไปได้สวย

แต่ทว่าในขณะนี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ครึ่งปีหลังได้ 1 เดือนแล้ว ดูเหมือนว่าฝรั่งจะบอกเป็นเสียงเดียวกัน ว่า “ทรัมป์ดอคทรีน” นั้นกำลังพังพินาศไป และไม่น่าจะเป็นตัวที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกได้อีก นั่นเป็นเพราะว่า
ประเด็นแรก ทรัมป์ ยังไม่สามารถเข็นนโยบายเศรษฐกิจที่ให้คำมั่นเอาไว้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างจริงๆ จังๆ ได้แม้แต่นโยบายเดียว

[caption id="attachment_188214" align="aligncenter" width="411"] TrumpDoctrine สิ้นมนต์ขลัง TrumpDoctrine สิ้นมนต์ขลัง[/caption]

ประเด็นที่ 2 คือ การยกเลิกโอบามาแคร์ หรือประกันสุขภาพของประธานาธิบดีคนก่อน และนำกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของพรรครีพับลิกันมาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นด่านสำคัญก็ปรากฏว่ายังล้มเหลวต่อเนื่อง

ประเด็นที่ 3 คือ นอกเหนือจากเข็นนโยบายเศรษฐกิจออกมาไม่ได้จริงแล้ว วิกฤติการ เมืองยังตามหลอกหลอนนายทรัมป์ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างทรัมป์กับรัสเซีย ที่หลายคนเชื่อว่า รัสเซียมีส่วนแทรกแซงในการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปลายปีที่แล้วจนทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง

และด้วยปัจจัยทั้ง 3 ประการนี้เอง ที่จะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯในปีนี้อย่างแน่นอน โดยทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ประกาศลดแนวโน้มการเติบโตของสหรัฐฯลงจากเดิมที่มองไว้ที่ 2.3% ลงมาอยู่ที่ 2.1% เท่านั้น และให้นํ้าหนักไปที่กลุ่มยูโรโซน และจีน ว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกแทนที่สหรัฐฯในปีนี้

ขณะที่ผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น ก็คงต้องเน้นไปที่ความผันผวนของค่าเงินให้มากครับ เพราะวิกฤติการเมืองของทรัมป์นั้น นอกเหนือจากจะกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเองแล้ว ยังจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า และก็แน่นอน เงินบาทก็มีทิศทางแข็งสวนทางขึ้นต่อเนื่อง มีโอกาสหลุดไปถึง 32 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก

ดังนั้น มาจนถึงขณะนี้ก็ต้องยอมรับกันครับว่า “ทรัมป์ดอคทรีน” กำลังสิ้นมนต์ขลังไปแล้ว และไทยก็ต้องปรับตัวรับมือกับสภาวะของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเปลี่ยนอีกยกแล้วครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,284 วันที่ 3 -5 สิงหาคม พ.ศ. 2560