โลกยุค 4.0 กับการค้าระหว่างประเทศ

01 ส.ค. 2560 | 23:05 น.
TP93283-a ระยะนี้บ้านเราตื่นตัวกันมากกับนโยบาย "ประเทศไทย 4.0" ซึ่งมุ่งที่จะผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้ไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" เรื่องนี้ในเวทีระหว่างประเทศก็มีการพูดถึงและได้รับความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งข้อมูลดิจิตอลข้ามพรมแดน ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีส่งผลให้ทำได้ง่ายขึ้น เกิดตลาดการค้าสินค้าและบริการออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าสถาปัตยกรรมทางเศรษฐกิจในระดับระหว่างประเทศที่จะเกื้อหนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคดิจิตอลควรจะหน้าตาอย่างไร

ขณะนี้กฎเกณฑ์ที่มีอยู่พัฒนาไปน้อยมากครับ เรายังต้องอาศัยกรอบทางกฎหมายขององค์การการค้าโลก (WTO)ซึ่งค่อนข้างจะเกาไม่ถูกที่คัน ระบอบตอนนี้ก็คือ หากการส่งข้อมูลดิจิตอลเข้าข่ายเป็นการบริการ ก็จะเป็นไปตามข้อผูกพันการเปิดเสรีของแต่ละประเทศภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) แต่หากข้อมูลดิจิตอลอยู่ในรูปผลิตภัณฑ์ทางกายภาพ ก็จะเป็นตามความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าสินค้า (GATT) นอกจากนั้น ยังมีความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระด้านเอกสารศุลกากรและจะส่งผลให้วิสาหกิจขนาดเล็กมีโอกาสเติบโตในการค้าในยุคดิจิตอล

การตัดสินว่า "การค้าดิจิตอล" หรือ "ผลิตภัณฑ์ดิจิตอล" เข้าข่ายที่ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ใดที่มีอยู่ไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ ภาพถ่ายสามมิติสามารถเข้าข่ายการให้บริการออนไลน์ได้ หรือหากมีการพิมพ์ภาพออกมาทำให้จับต้องได้ก็สามารถเข้าข่ายเป็นสินค้าได้ อีกทั้งยังมีแง่มุมของการค้าดิจิตอลที่ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของ WTO ซึ่งกำหนดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อน และตอนนี้การเจรจาในระบบการค้าพหุภาคีก็ไม่คืบหน้านัก จึงหวังไม่ได้ว่าจะสามารถตกลงกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อรองรับการค้าดิจิตอลได้เมื่อไร

เพื่อให้การค้าดิจิตอลพัฒนาข้ามพรมแดนต่อไปได้ ประชาคมระหว่างประเทศจึงได้หารือทางนโยบายกันในเวทีต่าง ๆ เพื่อกำหนดบรรทัดฐานในการตั้งข้อยกเว้นต่าง ๆ ต่อการส่งข้อมูลดิจิตอลข้ามพรมแดน อาทิ เพื่อการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น ซึ่งหากแต่ละประเทศมีนโยบายต่างกันก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการค้าได้โดยการค้าระบบดิจิตอลเป็นเรื่องที่มีการหารือกันในการประชุม G20 ในปีนี้เป็นครั้งแรก และ WEF ก็จัดเวทีพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้เพื่อผลักดันให้มีความเชื่อมโยงทางนโยบายมากขึ้น นอกจากนี้ UNCITRAL ก็เป็นเวทีหารือถึงการใช้เครื่องมือทางการค้าเพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าอิเล็กทรอนิกส์ และความตกลงการค้าเสรีหลายฉบับก็มีข้อบทส่งเสริมการค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการค้าดิจิตอลคือ ยังต้องสร้างศักยภาพในเรื่องนี้ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด อาทิ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ไม่แพง โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายรองรับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การใช้บัตรเครดิต ระบบไปรษณีย์ที่ไว้วางใจได้ รวมทั้งสร้างทักษะและเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากยังทำไม่ได้ ก็อาจยิ่งสร้างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้นอีก ทำให้เป็นเรื่องที่องค์กรเพื่อการพัฒนาอย่าง UNCTAD ให้ความสำคัญและได้จัดทำโครงการ "eTrade for All"ขึ้นเพื่อช่วยลดอุปสรรคดังกล่าวและช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับประโยชน์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการสร้างงานจากการค้าอิเลคทรอนิกส์ยิ่งขึ้น โดยได้มีการผลักดันให้ G20 ซึ่งเป็นเวทีของประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้นของโลกจัดทำแผนปฏิบัติการบนพื้นฐานของโครงการดังกล่าวของ UNCTAD เพื่อลดช่องว่างทางดิจิตอลและสร้างเสริมศักยภาพให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา

เชื่อว่าในที่สุดแล้ว พัฒนาการด้านนโยบายเกี่ยวกับการค้าดิจิตอลในเวทีต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการตกลงกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศที่WTO ต่อไปเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามครับ เพราะนี่คืออนาคตของการค้าระหว่างประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560