ซินเจียงศูนย์กลางเศรษฐกิจตะวันตกจีน

31 ก.ค. 2560 | 23:35 น.
TP63283-a หากใครได้มีโอกาสไป “เขตปกครองตนเอง อุยกูร์ซินเจียง (Xinjiang Uygur Autonomous Regional)” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า “ซินเจียง” นั้นจะพบว่าเหมือนไม่ได้อยู่ในประเทศจีน เพราะหน้าตาของคนซินเจียงไม่เหมือนคนจีน โดยเป็นชาวอุยกูร์ (Uygurs) 46%ชาวฮัน (Hans) 40% ชาวคาซัค (Kasaks) 7% ชาวฮุย (Huis) 4% ชาวคีร์กิซ (Kirgiz) และชาวมองโกล (Mongols) 0.9%

ภาษาที่ใช้ก็มีความแตกต่างกับจีนแผ่นดินใหญ่ การแต่งกายของคนและอาหารการกินก็มีความแตกต่างกับมณฑลอื่นของประเทศจีนอย่างมาก ซินเจียงมีพื้นที่มากที่สุดของจีนคิดเป็น 1 ใน 6 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นมณฑลที่ไม่มีทางติดต่อกับทะเล (Land Locked) แต่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุดถึง 8 ประเทศคือ คาซัคสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน คีร์กิซสถาน ทาจิกิสถาน รัสเซีย มองโกเลีย และอินเดีย ด้วยระยะทาง 5,600 กม. มีสินค้าเกษตรเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ฝ้าย (ด้วยสภาพอากาศจึงเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญของจีน) ข้าวโพด อ้อย ผลไม้ และการเลี้ยงสัตว์ (ม้า อูฐ แกะ และหมี เป็นต้น)

นโยบายจีนได้วางยุทธ-ศาสตร์ให้ซินเจียงเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภาคตะวันตกเฉียงเหนือที่เป็นประตูสู่เอเชียกลางและเอเชียตะวันตก เพื่อให้ซินเจียงเป็น “ฮ่องกงทางตอนเหนือของจีน (Northern Hong Kong” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านและโลก โดยรัฐบาลจีนได้วางให้เป็นศูนย์กลางและศักยภาพเพื่อการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ได้แก่

TP63283-b 1.ศูนย์กลางด้านพลังงานของชาติ (National Energy Strategy Base) เพราะมีสำรองก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและนํ้ามันคิดเป็น 20% พลังงานสำรองทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ซินเจียงยังสามารถผลิตพลังงานลมและแสงอาทิตย์ได้เป็นอันดับที่ 2 ของจีน และพลังงานนํ้าเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ

2.ศูนย์กลางแร่ธาตุที่มีค่าของประเทศ มีสัดส่วนมากถึง 80% ของประเทศได้แก่ ทองคำ เพชร พลอย ทองแดง สังกะสี เหล็ก นิกเกิล และตะกั่ว เพราะสภาพทั่วไปของซินเจียงเป็นที่ราบสูงและถูกรายล้อมด้วยภูเขาต่างๆ ทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุ เช่น ภูเขาอัลไต (Altai) ภูเขาอัลทุน (Altun) และภูเขาเทียนชาน (Tian Shan) ที่เป็นแหล่งผลิตทองคำและแร่ต่างๆ ที่สำคัญอีกหลากหลายประเภท และถูกขนานนามว่า มณฑล “3 ภูเขา 2 อ่างเก็บนํ้า (Tarim Basin และ Jungar Basin)” นอกจากนี้ยังมีทะเลทรายที่ใหญ่ของจีนชื่อว่า “ทะเลทรายทากลิมากัน (Taklimakan)” ถูกขนามนามว่า “Sea of Death” เพราะเข้าไปถึงได้ แต่กลับออกมาไม่ได้ มีขนาดพื้นที่ 320,000 ตร.กม. (กว้าง 420 กม.และยาว 960 กม.) ซึ่งถูกล้อมด้วยภูเขาเทียนชานและคุนลุน (Kunlun)

3.ศูนย์กลางทางการค้าชายแดนกับ 8 ประเทศและ อาเซียน โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญคือ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและรองเท้า และสินค้านำเข้าที่สำคัญได้แก่ นํ้ามันดิบและสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นการค้าขายกับประเทศคาซัคสถาน คีร์กิซสถานทาจิกิสถาน อินเดีย ปากีสถานและรัสเซีย ซึ่งมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์ โดย 50% เป็นการค้ากับประเทศคาซัคสถาน ซึ่งเรียกว่า “China- Kazakhstan Khosgar International Border Cooperation Border” ผ่านทางด่านเมือง Khosgar ซึ่งห่างเมืองหลวงอุรุมชี 670 กม. ที่เป็นทั้งด่านชายแดนค้าขาย คลังสินค้า และท่าเรือบก นอกนั้น 20% เป็นการค้าขายกับประเทศคีร์กิซสถาน ตามด้วยทาจิกิสถานและอินเดีย

นอกจากนี้ยังมี “Kashi Economic Development Zone” หรือบางที่เรียกว่า “Kashgar Special Economic Zone” (คำว่า “Kashgar หรือ “Kashi”?เป็นคำเดียวกัน) ตั้งเมื่อปี 2553 ที่เมืองคัสการ์ (Kashgar) ของซินเจียงที่อยู่ใกล้กับปากีสถานคีร์กิซสถาน และทาจิกิสถาน ถูกสร้างเป็นศูนย์กลางคลังสินค้า โลจิสติกส์และโรงงานผลิตรองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า และเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน

นอกจากนี้ ยังมีท่าเรือบกที่เมืองโฮร์โกส (Horgos) ที่เป็นศูนย์กลางการค้าของจีนกับประ เทศคาซัคสถานที่เรียกว่า “Horgos land port of xinjinag-kaszakhstan border” และเขตพัฒนาเศรษฐกิจที่เมืองหลวงอุรุมชีหรือ “Urumqi Economic and Technology Development Zone” เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่ง วิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษาและการแพทย์ เขตส่งออก (Export Processing Zone) และศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงของมณฑลซินเจียง

สำหรับการค้ากับอาเซียนนั้น ซินเจียงเป็นมณฑลติดกับมณฑลยูนนาน อาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV และไทย สามารถส่งสินค้าผ่านทางยูนนานไปยังมณฑลซินเจียง สินค้าที่มีศักยภาพได้แก่ กลุ่มอาหารและแปรรูป โดยเน้นอาหารที่เป็นมาตรฐานและคุณลักษณะที่เป็นคนมุสลิมชอบเป็นหลัก

4.ศูนย์กลางเส้นทางสาย ไหมอดีตและปัจจุบัน ซินเจียงเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมของประเทศจีนที่เรียกว่า “One Belt One Road : OBOR” ที่เริ่มเมื่อ 1,400 ที่แล้ว จากพ่อค้าชาวอิหร่านนำผ้าไหม 270 ม้วน มาขายในซินเจียงและผ้าไหมหายทั้งหมด ทำให้มีการเรียกเส้นทางการค้านี้ว่า “Silk Trade Road” จนถึงปัจจุบันซินเจียงก็ยังเป็นส่วนสำคัญของ OBOR เพราะเป็นประตูเศรษฐกิจสำคัญที่เชื่อมมองโกเลีย รัฐเซีย ยุโรปและเอเชียกลาง
และสุดท้ายการเป็นศูนย์ กลางระเบียงเศรษฐกิจของจีนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดย OBOR เชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจอยู่5 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญและอีก 1 เส้นทางที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัฐเซีย (The China- Mongolia-Russia Economic Corridor : CMREC) 2.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (The China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) 3.ระเบียงเศรษฐกิจบังกลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนมา (Bangladesh-China- India-Myanmar Economic Corridor : BCIMEC) 4.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC)
5.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลางและตะวันตก (China- Central and West Asia Economic Corridor : CCWAEC) และกับเส้นทางยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge) แต่ที่เชื่อมซินเจียงกับประเทศต่างๆ นั้นคือระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัฐเซีย ระเบียงเศรษฐกิจ จีน-ปากีสถานและระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเชียกลางและตะวันตก คำถามที่สำคัญคือ อาเซียนและไทยจะสามารถหาโอกาสและความร่วมมือจากศักยภาพของซินเจียงที่มีอยู่ได้อย่างไรครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560