บราซิล-จีนความสัมพันธ์ทางการค้า ที่ผู้ประกอบการไทยต้องจับตามอง

31 ก.ค. 2560 | 23:10 น.
บราซิล ถือเป็นประเทศผู้นำทางด้านเศรษฐกิจในแถบลาตินอเมริกาด้วยขนาดของประเทศและจำนวนประชากร ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายทั้งทางบก และทางทะเล ส่งผลให้ภาคการเกษตรของบราซิลไม่เพียงแต่จะผลิตเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย ไม่ว่าจะ เป็นเนื้อวัว เนื้อไก่ ถั่วเหลือง อ้อย กาแฟ และข้าวโพด โดยเฉพาะ “อ้อย” ที่ส่งผลให้บราซิลสามารถนำมาแปรรูปกลายเป็นประเทศที่ผลิตนํ้าตาลและส่งออกได้เป็นอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเอทานอลมากที่สุดในโลก

ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องทำให้ จีน หนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากช่วง 4 เดือนแรกของปี 2560 บราซิลได้ดุลการค้าจากจีน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศเท่านั้น โดยได้ดุลการค้ามากกว่า 40% จากการค้าระหว่างกันโดยเฉพาะกับสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า บราซิลส่งออกไก่ไปจีนกว่า 80% ของสัดส่วนที่จีนนำเข้าทั้งหมดจากต่างประเทศ และส่งออกถั่วเหลืองถึงกว่า 60% ของปริมาณทั้ง หมดที่จีนนำเข้าจากต่างประเทศ

ฉะนั้น จีนกับบราซิลนับว่าเป็นคู่ค้าที่ดีระหว่างกันมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2552 จากสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรม การค้าต่างประเทศและบริการ (Ministry of Industry, Foreign Trade and Service-MICS) รายงานว่าในปี 2559 มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับบราซิล สูงถึงกว่า 5.84 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบราซิลส่งออกไปจีนถึง 3.51 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และได้ดุลการค้าถึง 1.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

[caption id="attachment_186381" align="aligncenter" width="503"] สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ มิเชล เทเมอร์ ประธานาธิบดีบราซิล ถ่ายภาพร่วม กันเมื่อเดือนกันยายน 2559 สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ มิเชล เทเมอร์ ประธานาธิบดีบราซิล ถ่ายภาพร่วม
กันเมื่อเดือนกันยายน 2559[/caption]

สำหรับการลงทุนในประเทศบราซิลที่ผ่านมาจีนเข้าไปลงทุนในประเทศบราซิลสูงถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี รวมมูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ พลังงานและการขนส่ง และอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งบราซิลต้องการให้นักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน จะเห็นว่ามีบริษัทเอกชนของจีนจำนวนมากที่ต่างสนใจเข้าไปลงทุนในบราซิล ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพบราซิลในด้านต่างๆ

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นแล้วว่า จีนยังคงมองเห็นโอกาสในบราซิลอีกมากจึงมีการค้า-การลงทุนระหว่างกันจำนวนมหาศาล สำหรับผู้ประกอบการไทยแล้ว นี่ถือเป็นช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ เพื่อเข้าไปขยายตลาดการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับบราซิลมากขึ้น ถึงแม้ว่าตัวเลขการค้าระหว่างไทยกับบราซิลนั้นจะไม่ได้สูงเมื่อเทียบเท่ากับการค้าระหว่างจีนกับบราซิล แต่แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของบราซิลที่มีความต้องการและสนใจการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในบราซิลมากยิ่งขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ในปี 2560 นี้ นักธุรกิจไทยมีโอกาสขยายตลาดและส่งสินค้าไปยังบราซิลเพิ่มขึ้น โดยทางสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบราซิเลีย ได้ช่วยประสานงานระหว่างกลุ่มธุรกิจของไทยที่มาลงทุนในบราซิลกับการจัดหาแรงงานท้องถิ่นสนับสนุนผู้ประกอบการไทย รวมทั้งแรงงานไทยในบราซิล อาทิ บริษัท คาราบาวแดงฯ ที่เข้ามาลงทุนเครื่องดื่มชูกำลังและต้องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในบราซิลและภูมิภาคลาตินอเมริกา นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการไทยที่สนใจเข้าไปในบราซิลอีกจำนวนมาก ทั้งในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล ภาคการโรงแรมในเครืออนันตรา รวมทั้ง ปตท.สผ. ซึ่งเข้าไปลงทุนในกลุ่มพลังงาน

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับบราซิลในปี 2559 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 3,688 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออก 1,526 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากบราซิลทั้งสิ้น 2,162 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยขาดดุลการค้า 636 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผลิตและยอดขายของสินค้ายานยนต์ในบราซิลที่อยู่ในภาวะซบเซา ขณะที่ไทยเน้นการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบไปยังบราซิลเป็นอันดับต้นๆ นอก จากนี้ไทยยังคงต้องการสินค้าเกษตรจากบราซิลอย่างต่อเนื่อง เช่น ถั่วเหลือง เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้ง แต่เดือนมกราคม-เมษายน 2560 การค้าระหว่างไทยกับบราซิล มีมูลค่า 977.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบราซิลยังคงได้ดุลการค้าอยู่

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าบราซิล เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก มีมูลค่า GDP เมื่อปี 2559 สูงกว่า 3.26 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ?ราว 115.7 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศที่มีทรัพยากร ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก บราซิลจึงเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพและสามารถเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทยได้ ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้บราซิลยังคงเป็นตลาดที่ผู้ประกอบการไทยควรเข้าไปทำการค้าการลงทุน และ ถือเป็นอีกตลาดหนึ่งที่สำคัญด้านการค้าหากตลาดสำคัญของไทยอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในภาวะชะลอตัว

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,283
วันที่ 30 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2560