หลักประกัน(ความรู้) ทางการเงินแบบถ้วนหน้า

14 มิ.ย. 2560 | 05:18 น.
tp07-3270-a ท่านผู้อ่านเคยคิดกันไหมว่าวันหนึ่งหากเราอยู่ในวัยที่ไม่สามารถทำงานได้แล้ว ไม่มีรายได้ แต่ยังคงมีรายจ่ายอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าข้าวของเครื่องใช้หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เราจะทำอย่างไร เรามีเงินเก็บเตรียมพร้อมสำหรับเวลาเช่นนั้นแล้วหรือไม่ ผู้เขียนอยากจะนำเสนอแนวคิดในเรื่องการเตรียมการเพื่อสถานการณ์ดังกล่าวสำหรับสังคมไทยให้ฟังกัน

แม้เราจะได้ยินได้ฟังการกระตุ้นเตือนจากคนรอบข้างหรือคนรู้จักอยู่บ่อยๆ ว่า ต้องเก็บเงินนะ ไม่ว่าจะมีครอบครัว หรือไม่มีทุกคนมีความเสี่ยงพอๆ กัน ที่จะขาดรายได้เพื่อการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขเมื่อถึงวัยเกษียณ(หากท่านผู้อ่านคิดว่าความเสี่ยงของคนที่มีลูกตํ่ากว่าคนไม่มีลูกให้ลองนึกเล่นๆดูว่า ทุกวันนี้เราดูแลบุพการีในด้านการเงินได้ดีขนาดไหนค่ะ) ผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่ามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่มีความตั้งใจที่จะเก็บหอมรอมริบรายได้ในปัจจุบันเพื่ออนาคตในวันที่เกษียณอายุ

แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ตํ่าเตี้ยเรี่ยดินอย่างเช่นทุกวันนี้ คงจะไม่แปลกที่คนกลุ่มหนึ่งอาจจะรู้สึกสิ้นหวังว่าต่อให้เก็บเงินมากเท่าไหร่ ก็คงจะเป็นการยากที่จะให้ถึงเป้าหมายจำนวนเงินที่คาดการณ์ว่าจะต้องมีเมื่อเกษียณอายุ (สมมติคิดคร่าวๆ ว่าหลังอายุ 60 ปี เราจะมีชีวิตอยู่อีกสัก 15 ปี ถ้าต้องใช้จ่ายปีละประมาณ500,000 บาท นั่นหมายความว่าตอนที่เราเกษียณ เราต้องมีเงินอย่างน้อย 7.5 ล้านบาท ถ้าข้าวของในอนาคตแพงขึ้นมาก เราก็ต้องเตรียมเงินมากกว่านั้น)

คนกลุ่มนี้จึงอาจพ่ายแพ้แก่ความต้องการของตนเองและเลือกที่จะใช้จ่ายรายได้ที่หามาในทันทีมากกว่าที่จะอดออม ปัญหาของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะอย่างน้อยคนกลุ่มนี้ก็มีความตั้งใจดี ที่จะเก็บออมเงินเพียงแต่อาจจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการออมที่ถูกวิธีที่จะทำให้เงินออมเติบโตไปจนถึงเป้าหมายที่ต้องการ

ผู้เขียนเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย ดังจะเห็นได้จากข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่การถูกหลอกให้ร่วมลงทุนเพื่อหวังผลตอบแทนสูงๆ หรือการที่คอร์สสัมมนาเกี่ยวกับการลงทุนมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายก็ตาม ผู้เขียนจึงคิดว่าภาครัฐควรจะมีกระบวนการที่จะเข้าถึงคนกลุ่มดังกล่าว เพื่อมอบความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการออมที่ถูกต้องแก่พวกเขามากกว่าในปัจจุบันหรือไม่

การใช้กลไกทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้คนเก็บออมเงินในรูปของการซื้อกองทุนรวมระยะยาว(LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือแม้แต่ประกันชีวิตนับเป็นตัวอย่างที่ดีในการส่งเสริมให้คนออมเงินในเครื่องมือที่มีศักยภาพที่จะทำให้คนบรรลุเป้าหมายเงินออมเพื่อการเกษียณได้แต่เราต้องอย่าลืมว่า คนที่จะรู้จักเครื่องมือการออมดังกล่าวยังคงจำกัดวงอยู่เพียงกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำ เช่น พนักงานบริษัทที่มีรายได้ถึงระดับที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น

[caption id="attachment_161630" align="aligncenter" width="462"] หลักประกัน(ความรู้) ทางการเงินแบบถ้วนหน้า หลักประกัน(ความรู้) ทางการเงินแบบถ้วนหน้า[/caption]

ในขณะที่ปัญหาการเงินเมื่อเกษียณอายุเป็นปัญหาของคนทุกกลุ่ม รวมถึงคนในภาคแรงงานนอกระบบด้วย ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเครื่องมือดังกล่าวได้ (นอกจากคนที่มีความสนใจเรื่องการวางแผนลงทุนเป็นการส่วนตัวเอง) เราจึงไม่ควรละเลยคนกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มนี้ และควรให้ความรู้ที่จะช่วยให้พวกเขามีหลักประกันในอนาคตเมื่อตนเองเกษียณอายุ โดยไมต่ อ้ งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว (เช่น จากเบี้ยผู้สูงอายุ)

เช่นเดียวกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การให้ความรู้ในเรื่องวิธีการออมที่มีประสิทธิภาพกับคนไทยทุกกลุ่ม (โดยใช้รูปแบบการสื่อสารที่เหมาะสมกับคนแต่ละกลุ่ม) ก็เปรียบได้กับการให้หลักประกัน (ความรู้) ทางการเงินแบบถ้วนหน้าแก่คนไทยทุกคนเพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินเมื่อเกษียณอายุนั่นเอง

และถ้าจะให้ดี การกระตุ้นเตือนคนไทยทุกคนให้เข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องวางแผนเก็บออมเงินตั้งแต่อายุน้อยๆ เพื่อชีวิตหลังเกษียณ และไม่สร้างหนี้จากการใช้จ่ายเกินตัว ก็ควรจะเป็นหนึ่งในเป้าประสงค์ของหลักประกัน(ความรู้)ทางการเงินแบบถ้วนหน้าดังกล่าวด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,270 วันที่ 15 - 17 มิถุนายน พ.ศ. 2560