รู้จัก‘คาซัคสถาน’กับศูนย์กลางเส้นทางคมนามคมขนส่งยูเรเซีย (ตอนที่ 1)

11 มิ.ย. 2560 | 08:00 น.
ปัจจุบันการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ละประเทศเน้นการพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในแต่ละด้านเพื่อกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติ “คาซัคสถาน” เป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อการเป็นศูนย์กลางระดับภูมิภาคโดยเฉพาะด้านการคมนามคมขนส่งระหว่างประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เชื่อมโยงทวีปเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรปเข้าด้วยกัน

ในปีนี้คาซัคสถานได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพงาน International Exposition 2017 ณ กรุงอัสตานา ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน - 10 กันยายน 2560 ทำให้คาซัคสถานเป็นที่จับตามองจากวงการเศรษฐกิจการค้า การลงทุนของโลก ที่ผ่านมา คาซัคสถานมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ดี จากการที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างรุนแรงจาก 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล เหลือเพียงประมาณ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาเรล ต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทำให้คาซัคสถานจำเป็นต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างของประเทศครั้งใหญ่เพื่อส่งเสริมพื้นฐานของการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รัฐบาลคาซัคสถานอยู่ระหว่างแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การค้าการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น

[caption id="attachment_160066" align="aligncenter" width="503"] รู้จัก‘คาซัคสถาน’กับศูนย์กลางเส้นทางคมนามคมขนส่งยูเรเซีย (ตอนที่ 1) รู้จัก‘คาซัคสถาน’กับศูนย์กลางเส้นทางคมนามคมขนส่งยูเรเซีย (ตอนที่ 1)[/caption]

ด้วยจุดเด่นด้านเงินทุนและทรัพยากรมหาศาล ลักษณะทางภูมิประเทศเป็นที่ราบอยู่กึ่งกลางของภูมิภาค แม้ไม่มีทางออกทะเล (landlocked-country) ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็มีพรมแดนติดกับประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั้ง รัสเซีย จีน และกลุ่มประเทศเอเชียกลาง ซึ่งมีชายฝั่งทะเลสาบแคสเปียนที่สามารถเป็นประตูสู่ตะวันออกกลางได้ คาซัคสถานมีนโยบายเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระดับภูมิภาคเข้าด้วยกัน
ตั้งแต่เดือนกันยายน 2557 คาซัคสถานประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติภายใต้วิสัยทัศน์ NurlyZhol หรือ ‘เส้นทางสู่อนาคต’ (The Path to the Future) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งเชื่อมโยงระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป โดยโครงการดังกล่าวได้รับอิทธิพลทางความคิดและแรงผลักดันจากข้อริเริ่มแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน (One Belt One Road) คาซัคสถานตั้งเป้าหมายมูลค่าการลงทุนในวิสัยทัศน์ NurlyZholกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯฯ ภายในปี 2563 โดยปัจจุบันได้ลงทุนไปแล้วกว่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจุบันคาซัคสถานต้องการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมันที่ประสบกับปัญหาราคาลดต่ำลง อีกนโยบายหนึ่งที่คาซัคสถานกำลังเร่งดำเนินการนั่นคือการวางแผนที่จะพัฒนาภาคการเกษตรภายในประเทศเรียกว่าแผน Agribusiness 2020 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลคาซัคสถานตั้งเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรจากค่าเฉลี่ย 30% ต่อปี เหลือเพียง 10% ต่อปี เท่านั้นภายในปี 2020

[caption id="attachment_160065" align="aligncenter" width="503"] รู้จัก‘คาซัคสถาน’กับศูนย์กลางเส้นทางคมนามคมขนส่งยูเรเซีย (ตอนที่ 1) รู้จัก‘คาซัคสถาน’กับศูนย์กลางเส้นทางคมนามคมขนส่งยูเรเซีย (ตอนที่ 1)[/caption]

ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงเรื่องนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลคาซัคสถาน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประเทศจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลไปสู่การเป็นประเทศที่เชื่อมโยงการเดินทางผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศต่าง ๆ มากมายเพื่อเชื่อมโยงกับนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ของจีน และภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ตุรกี อิหร่านและยุโรป โดยจะให้คาซัคสถานเป็นจุดเชื่อมเอเชียกลางเข้ากับภูมิภาคต่าง ๆ เน้นการสร้างและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เช่น การขนส่งโดยระบบราง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ถนน การสร้างระบบศูนย์กลางทางการเงิน เป็นต้น ในวิสัยทัศน์ “เส้นทางสู่อนาคต:NurlyZhol” อีกทั้งการบูรณาการร่วมกับนโยบาย BRI (Belt and Road Initiative) ของจีน เพื่อเป้าหมายการพัฒนาคมนาคม การขนส่ง การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว อาทิ การพัฒนาสถานีขนถ่ายสินค้าเพื่อส่งเสริมการนำเข้า-ส่งออก ตลอดจนการสร้างความเชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศและสร้างบรรยากาศการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560