การแสวงหา

11 มิ.ย. 2560 | 06:00 น.
TP13-3269-d ผมมีโอกาสได้มาดูงานการพัฒนาSMEs ทั้งระบบโดยความร่วมมือของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่ครั้งแรก ที่ได้ไปดูงานเรื่องการพัฒนา SMEs ของญี่ปุ่น แต่ครั้งนี้เขาจัดให้ไล่ดูทั้งระบบ พูดคุยกับหน่วยงานสำคัญในระดับประเทศ เอกชน รัฐวิสาหกิจ และลงมาคุยในระดับจังหวัด อำเภอและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานประสานกัน กระจายไปทั่ว ทั้งจากส่วนกลางและในระดับพื้นที่ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs มากมายหลายด้าน ตั้งแต่การบริหาร การผลิต การออกแบบ การตลาด ฯลฯ และส่วนในเรื่องการเงินก็มีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กองทุนสนับสนุนต่าง ๆ และสิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุดคือระบบการให้คำปรึกษา และถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา SMEs ควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ

ในญี่ปุ่น ระดับเขตมีหน่วยงานจำนวนมากที่ให้คำปรึกษาแก่ SMEs เช่น สถาบันการศึกษา สมาคมต่าง ๆ หรือหน่วยงานท้องถิ่น องค์กรต่าง ๆ เหล่านี้จะทำงานร่วมมือกันส่งลูกค้าให้กัน โดยหน่วยงานต่าง ๆสามารถสมัครเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษา SMEs ของรัฐบาลประจำพื้นที่ได้ฟรี เรียกว่า Yorozu ซึ่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐ มีที่ปรึกษาประจำที่มักจะเป็นผู้ผ่านงานบริษัทใหญ่ ๆ หรือมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาแล้ว และในแต่ละพื้นที่จะมี Yorozuได้แห่งเดียว หากมี SMEs มาขอคำปรึกษาและไม่สามารถให้คำปรึกษาได้ในเรื่องนั้น ๆ อาจเพราะเรื่องเฉพาะเจาะจง ทาง Yorozu สามารถขอความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาส่วนกลางใน Mirasapo ที่รัฐบาลกลางจ้างให้บริษัทจัดหาพนักงาน(head hunter) มาทำเป็นเว็บไซต์ที่มีรายชื่อของที่ปรึกษากลางไว้ ซึ่งทาง Mirasapo จะจัดส่งปรึกษาไปโดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง เพราะ SMEs ทั่วประเทศสามารถได้รับค่าที่ปรึกษาฟรีปีละ 3 วันทำการ

ผมถามผู้จัดการ Yorozu ของเขตหนึ่ง เขาเล่าว่าสำนักงานนี้เป็นของเทศบาลซึ่งได้เข้ามาร่วมทำงานและเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้น เพราะที่ผ่านมาธุรกิจมีปัญหามากและภาษีที่ท้องถิ่นได้รับก็น้อยลง เลยเร่งพยายามให้คำปรึกษากับธุรกิจในพื้นที่มากขึ้น หลังจากเปิดสำนักงาน ระยะแรกก็มีคนมารับคำปรึกษาไม่มาก แต่ปัจจุบันมี SMEs มารับคำปรึกษามากขึ้น องค์กรต่าง ๆ ที่ให้คำปรึกษา SMEs ในพื้นที่มีการแข่งกันโดยใช้ความชำนาญของที่ปรึกษา สำหรับเทศบาลที่ผมไปเยี่ยม ผู้จัดการอายุประมาณเกือบ 70 ปี เคยเป็นเจ้าของและผู้จัดการบริษัทใหญ่มาก่อน มีประสบการณ์สูงและผ่านการแก้ไขวิกฤติของธุรกิจมามาก

ธุรกิจที่รอดและฟื้นฟูได้มักมาหาเมื่อปัญหายังไม่ถึงขั้นจวนตัวและหมดทาง เรียกว่ามาทันกาล ส่วนที่ไม่รอดมักเป็นรายที่พยายามแก้ไขให้ตัวเองจนหมดหนทางและสายเกินแก้แล้วถึงมา และอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่รอด คือพวกที่ไม่ยอมทำตาม หรือทำไม่จริงจัง

สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นจากการดูงานครั้งนี้ งานสนับสนุน SMEs ของญี่ปุ่นคล้าย ๆ กับระบบของเรา รัฐเป็นผู้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและสนับสนุน แต่ที่ต่างกัน คือ ระบบการให้คำปรึกษามีการตรวจสอบเข้มข้น ทั้งการคัดที่ปรึกษาที่มีคุณภาพ การทำงานของที่ปรึกษาว่าทำจริงและธุรกิจได้ประโยชน์จริง และการประสานงานการปรึกษาในระดับต่าง ๆ การคัดเลือกที่ปรึกษาโดยบริษัทจัดหาพนักงานที่มีคุณภาพ แต่ที่สำคัญคือ ตัว SMEs ของญี่ปุ่นที่จะแสวงหาและเดินเข้ามาขอรับคำปรึกษาและใช้สิ่งสนับสนุนที่รัฐมีอยู่อย่างเต็มที่ วันนี้ SMEs หลายรายประสบความสำเร็จจากการสนับสนุนจากรัฐ แต่ยังมีอีกจำนวนมากยังไม่เห็นความสำคัญของคำปรึกษา หลายรายชินกับการรอให้มีคนมาให้การสนับสนุนแทนการออกไปแสวงหา นอกจากนี้ การปรึกษาของที่ปรึกษาบางรายที่ไร้คุณภาพก็ทำลายความมั่นใจในระบบการปรึกษาของประเทศ ระบบบ้านเราวันนี้ก็มีครบ SMEs ที่ต้องการคำปรึกษา เดินไปที่สำนักงานหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ หรือที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทุกจังหวัดได้ เพราะมีการให้คำแนะนำเบื้องต้นและการส่งต่อผู้ชำนาญการในกรณีที่ต้องการคำปรึกษาเฉพาะทาง

วันที่ผมไปเยี่ยม Yorozu แห่งหนึ่ง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งกำลังคุยกับที่ปรึกษากำลังคิดจะตั้งธุรกิจจัดเดทให้หนุ่มสาวขี้อายแต่อยากมีแฟน ถามเขาว่าคำปรึกษาที่ได้รับพอใจหรือไม่ เขาบอกว่า คำปรึกษาเป็นทางเลือกทางหนึ่งที่ผู้มีประสบการณ์แนะนำ และเป็นสิ่งที่คนข้างนอกที่มองเข้ามา อาจให้ข้อคิดในมุมที่เรามองไม่เห็น หรือจากจุดที่เรายืนในฐานะเจ้าของอาจมองข้ามไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม มีประโยชน์มาก แต่ในที่สุดการตัดสินใจเป็นของเราคนเดียว เราต้องใช้คำแนะนำที่ปรึกษาอย่างฉลาด และรอบคอบ อะไรจะเกิดขึ้น เกิดกับเราคนเดียว เพราะเราคือเจ้าของธุรกิจ ผมฟังแล้ว เข้าใจคำว่า "ผู้ประกอบการ" ที่แท้จริง มากขึ้นครับไม่รอรับ แต่ออกไปไขว้คว้า