การเมืองโลกและการลงทุน

11 มิ.ย. 2560 | 05:00 น.
TP9-3269-c พิจารณาตัวเลขของประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่พบว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีขนาดรวมกันถึง 1/3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของโลก และมีจำนวนประชากรถึง 3/4 ของประชากรโลก การเจริญเติบโตของประเทศเหล่านี้จึงมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่อัตราการเจริญเติบโตนั้นลดลงในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดมาจากหลากหลายสาเหตุอาทิเช่นอัตราการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชน ชะลอตัวลงการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศก็ลดลงหนี้สินครัวเรือนของประเทศที่กำลังพัฒนาเพิ่มสูงขึ้นและความเสี่ยงจากปัจจัยทางการเมืองก็มีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งการเติบโตของประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งสินค้าเกษตรและน้ำมันลดลงเช่นกัน

รายงานของธนาคารโลกเมื่อตอนต้นปี 2560 ได้พยายามอธิบายอัตราการเติบโตของลงทุนที่ชะลอตัวลงด้วยสาเหตุ 3 ประการกล่าวคือ ความเสี่ยงจากตลาดการเงิน ความเสี่ยงจากการใช้นโยบายทางเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางการเมือง จากการศึกษาพบว่าความเสี่ยงสองประการหลังมีความสำคัญมากต่อการ ตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน สัปดาห์ที่ผ่านมีความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศมาซ้ำเติมอีก

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศตะวันออกกลางที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง หลังจากมีความร่วมมือที่แน่นแฟ้นต่อกันคือ การจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (The Gulf Cooperation Council : GCC) ในปี 2524 โดยมีสมาชิกประกอบไปด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน บาห์เรน และกาตาร์ ได้วัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อการกระชับและสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่สมาชิก เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในศาสนาอิสลาม ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจึงครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจการเงิน การค้า การสื่อสาร การศึกษาและวัฒนธรรม สังคมสาขาสุข สารสนเทศ การท่องเที่ยว กฎหมายความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และเกษตร และมีการพัฒนาจนกลายเป็นตลาดร่วม (Common Market) ในปี 2551 เรียกว่ากลมเกลียวกันมากทางการค้าการลงทุน

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสัปดาห์นี้คือการตัดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของชาติตะวันออกกลางกับกาตาร์ ที่มีซาอุดิอาระเบียเป็นหัวหอก โดยอาศัยเหตุผลว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่กาตาร์เองก็ปฏิเสธแต่รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านได้ปิดการตลาดโดยการปิดพรมแดนปิดน่านฟ้าท่าเรือซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับกาตาร์ทุกทาง
กาตาร์นั้นเป็นประเทศที่ร่ำรวย เมื่อกล่าวถึงกาตาร์แล้วอาจจะไม่คุ้นแต่เราจะคุ้นกับสถานีโทรทัศน์อัลจาซีรา การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022 สายการบินกาตาร์ที่เป็นสายการบินใหญ่ระดับโลกมีบริการที่ดีราคาประหยัด รอบการประชุมที่โดฮาขององค์การการค้าโลก และแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ ความรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ รายได้ต่อหัวเรียกได้ว่าสูงที่สุดในโลก 145,000 เหรียญสหรัฐอเมริกาต่อคน รายได้ส่วนใหญ่นั้นมาจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยแต่เป็นประเทศที่ไม่สามารถทำการเกษตรกรรมได้ไม่สามารถผลิตอาหารจึงต้องนำเข้าอาหารจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก

ผลกระทบของประเทศเพื่อนบ้านที่ตัดความสัมพันธ์ทางการทูต และทางเศรษฐกิจกับกาตาร์ ทำให้ประชาชนมีความกังวลในเรื่องการซื้ออาหาร ก่อให้เกิดภาวะการกักตุนอาหาร แต่อย่างไรก็ตามกาตาร์ก็มีการนำเข้าอาหารโดยตรงกับคู่ค้าอีกหลายประเทศ รวมถึงไทย ทำให้ภาวะการขาดแคลนอาหารนั้นยังคงไม่เกิดขึ้น แต่อีกปัญหาหนึ่งคือรายได้จากสายการบินที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงเพราะสายการบินของกาตาร์ต้องเปลี่ยนเส้นทางการบินเพราะไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้า ของประเทศที่ตัดความสัมพันธ์ได้

ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญในปัจจุบันเพราะไม่ก่อให้เกิดบรรยากาศที่น่าลงทุนของภาคเอกชน ความขัดแย้งดังกล่าวปัจจุบันมีทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคภาวะความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมีอยู่หลายระดับด้วยกัน ตั้งแต่ประท้วง ตัดความสัมพันธ์การค้าการลงทุน และการทูต และการประกาศแสนนุภาพทางการทหารและซ้อมรบ

การฟื้นตัวจากการลงทุนจึงยังคงไม่เกิดขึ้นง่ายๆในระดับโลก เพราะปัญหาจากความไม่แน่นอนทางการเมือง เดือนหน้าก็ไม่รู้ว่าจะมีความขัดแย้งใด ๆ อีก หากผู้นำสหรัฐอเมริกายังขยันบินเดินสายไปทั่วโลก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560