ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (6)

11 มิ.ย. 2560 | 04:00 น.
หลังจากพูดคุยกับคุณ ทศทิศ รอดประเสริฐรองประธานกรรมการและผู้จัดการฝ่ายการตลาดธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาย่างกุ้งแล้ว ถึงเวลาที่คณะเราต้องเดินทางต่อ จุดหมายต่อไปของเราก็คือเมืองมัณฑะเลย์ซึ่งเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งของเมียนมาและเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปตามจุดต่างๆทั่วประเทศเมียนมา
เราออกเดินทางจากโรงแรมที่พักในช่วงเช้าเพื่อมุ่งหน้าไปเมืองมัณฑะเลย์ โดยใช้เส้นทางหมายเลข 1 กรุงย่างกุ้ง-เมืองมัณฑะเลย์ ที่จะผ่านเมืองสำคัญหลายเมือง ได้แก่ กรุงเนปิดอว์และเมืองมิติลา รวมระยะทางประมาณ 633 กิโลเมตร แต่โชคดีที่รัฐบาลเมียนมาได้ก่อสร้างทางด่วน (Express Way) เชื่อมโยงระหว่างกรุงย่างกุ้งไปยังเมืองมัณฑะเลย์ไว้ระยะทาง 587 กิโลเมตร เป็นถนนคอนกรีตอย่างดีขนาด 4 ช่องจราจรเลยทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก ทางด่วนสายนี้เริ่มก่อสร้างในปี 2550 และแล้วเสร็จในปี 2552 ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี

หลังจากออกจากโรงแรมได้สักพักเราก็เดินทางมาถึงทางด่วน พอเริ่มเข้าพื้นที่ทางด่วนคนขับรถก็เลี้ยวรถเข้าด้านขวามือและหยุดรถตรงหน้าสิ่งก่อสร้างรูปทรงคล้ายๆ ศาลหลักเมืองของเรา ซึ่งเท่าที่สังเกตก็มีรถหลายคันที่ทำเหมือนเรา ก็เลยสอบถามว่าจอดทำไม เลยได้รับทราบคำตอบจากคนขับรถว่าจอดรถเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์และขอพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพดูแล้วก็คล้ายคลึงกับประเทศไทยเลย แต่เนื่องจากฝนยังคงตกโปรยปรายอยู่เราก็เลยสักการะจากในรถนั่นแหละ หลังจากนั้นเราก็รีบออกเดินทางต่อไป

Tp07-3269-b โดยจุดหมายแรกของเราคือ กรุงเนปิดอว์เมืองหลวงแห่งใหม่ของเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 370 กิโลเมตรเส้นทางเป็นถนนคอนกรีตฝั่งละ 2 เลน ตลอดเส้นทางก็พอมีจุดแวะพักที่มีทั้งปั๊มนํ้ามันขนาดมาตรฐานร้านอาหาร ร้านกาแฟ และห้องนํ้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาถนนในเมียนมาทั้งประเทศคือ มาตรฐานการก่อสร้าง เพราะไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือลาดยาง ถนนทุกสายมักจะไม่เรียบเสมอกันและดูเหมือนจะมีลูกคลื่นตลอดทางซึ่งเกิดจากความเร่งรีบในการก่อสร้างเพื่อให้ทันต่อการใช้งานแต่ในที่สุดหลังจากใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงบนทางด่วนเราก็มาถึงกรุงเนปิดอว์จนได้เพื่อแวะพักรับประทานอาหารกลางวันก่อนเดินทางต่อไปยังเมืองมัณฑะเลย์กรุงเนปิดอว์ มีความหมายว่า “มหาราชธานี” เป็นเมืองหลวงใหม่ของเมียนมา มาตั้งแต่ปี 2548 โดยถือได้ว่าเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของเมียนมารองจากกรุงย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ มีพื้นที่ประมาณ 7,054.34 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตอนกลางของประเทศและอาจถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงที่สร้างได้รวดเร็วที่สุดในโลก โดยใช้ระยะเวลาสร้างเพียงแค่ 4 ปี

กรุงเนปิดอว์เป็นสถานที่ตั้งของสถานที่ราชการที่สำคัญของเมียนมา อาทิ อาคารรัฐสภาและกระทรวง ทบวง กรมต่างๆโดยรัฐบาลได้จัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เช่นสนามบินนานาชาติ สถานีรถไฟสนามกีฬา โรงพยาบาล ถนนที่มีขนาดกว้างถึง 20 เลน และสถานศึกษา ตลอดจนที่พักให้กับข้าราชการและครอบครัวที่จะต้องมาปฏิบัติงาน นอกจากนั้นยังได้ดึงดูดให้นักลงทุนมาลงทุนในกรุงเนปิดอว์ เช่น ห้างสรรพ-สินค้า ร้านอาหาร และโรงแรมเป็นต้น

โดยให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนซึ่งกรุงเนปิดอว์ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน 10 เมือง ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลกอีกด้วยสภาพกรุงเนปิดอว์ที่เราสังเกตเห็นในวันนั้นค่อนข้างเงียบเหงาด้วยความที่เป็นเมืองที่ใหญ่มากแต่มีประชากรน้อย ศูนย์การค้าก็ไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก เราเลยเลือกรับประทานอาหารในศูนย์การค้าไปเลยก็สะดวกดี แต่ที่อึ้งมากๆ สำหรับผมคือ อาคารรัฐสภาที่ใหญ่โตมโหฬารมาก แต่ที่อึ้งกว่านั้นคือถนน 20 เลน มองเห็นแล้วก็ได้แต่รำพึงในใจว่า “จะใหญ่ไปไหน” เรียกว่าใหญ่จนเครื่องบินโดยสารน่าจะลงจอดได้เลยทีเดียว เป็นที่น่าอัศจรรย์ใจมาก

Tp07-3269-c เราใช้เวลาที่เนปิดอว์ไม่นานนักเพราะระยะทางที่จะไปเมืองมัณฑะเลย์ยังอีกไกล เราออกจากเนปิดอว์ย้อนกลับมาขึ้นทางด่วนเส้นเดิมเพื่อไปต่อ แต่ทางด่วนที่ว่านี้ไม่ใช่จะมาเที่ยวขับรถกันฟรีๆ นะครับ ทางด่วนเส้นนี้เก็บค่าผ่านทางด้วยครับโดยตลอดเส้นทางมีด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 5 ด่าน โดยเก็บอัตราค่าผ่านทาง 4,500 จ๊าต (ประมาณ 100 บาท) สำหรับรถยนต์ และ 22,500 จ๊าต (ประมาณ 560 บาท) สำหรับรถโดยสารแต่รถบรรทุกสินค้าห้ามใช้เส้นทางนี้ โดยให้ไปใช้เส้นทางด่วนกรุงย่างกุ้ง-เมืองมัณฑะเลย์สายเก่าแทน ซึ่งเป็นถนนขนาด 2 ช่อง จราจร และ 4 ช่องจราจรเมื่อเข้าสู่เขตเมือง โดยวิ่งขนานกับทางด่วนสายใหม่เส้นนี้ สำหรับสภาพพื้นที่โดยรอบตลอดเส้นทางเป็นพื้นที่ราบไม่ค่อยมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาผิวจราจรให้เป็นถนนคอนกรีต แต่การเดินทางยังไม่ค่อยสะดวกและเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากรัฐบาลเมียนมามีการจำกัดความเร็วรถยนต์อยู่ที่ระหว่าง 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ประกอบกับสภาพรถที่ใช้ส่วนมากเป็นรถยนต์มือสองที่นำเข้าจากต่างประเทศ อีกทั้งการก่อสร้างถนนที่ยังไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ว่าจะเป็นคอนกรีตหรือลาดยาง ถนนทุกสายมักจะไม่เรียบเสมอกัน ซึ่งเกิดจากความเร่งรีบในการก่อสร้างเพื่อให้ทันต่อการใช้งาน ทำให้ไม่สามารถใช้ความเร็วได้มากนัก กว่าจะถึงเมืองมัณฑะเลย์ก็คํ่าพอดีเลยยังไม่ได้สำรวจหน้าตาเมืองมัณฑะเลย์เลยว่าเป็นอย่างไร เอาไว้ตอนหน้าจะมาเล่าเรื่องเมืองมัณฑะเลย์ต่อครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,269 วันที่ 11 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2560