ผู้นำหรือผู้ตาม

28 พ.ค. 2560 | 00:00 น.
ข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าหรือ Trade Facilitation Agreement เพื่อให้เกิดความสะดวกและโปร่งใสในหมู่สมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO)เช่นเรื่องพิธีการศุลกากรที่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายและเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า ข้อตกลงนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศแต่ผมกลับมีความเห็นว่าหากประเทศไทยมีอุปสรรคการนำเข้าและส่งออกสินค้าแล้วนั้นเราก็จะต้องแก้ไขเองเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจึงสงสัยว่าทำไมเราต้องรอให้มีข้อตกลงเสียก่อนแล้วจึงค่อยแก้ไข?

ในขณะนี้มีข้อตกลงการค้า 4 ฉบับที่เราต้องติดตามใกล้ชิด(แม้ว่าบางฉบับจะไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง) คือ 1) ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ กับแคนาดาและเม็กซิโกหรือ 2) ข้อตกลงการค้าข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP 3) กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียนหรือ RCEP และ 4)ข้อตกลงเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก

ข้อตกลง NAFTA (เป็นสาเหตุให้สหรัฐอเมริกาเสียดุลการค้าและการจ้างงานลดลง)ซึ่งนายทรัมป์นำขึ้นหาเสียงว่าเป็นข้อตกลงที่แย่ที่สุดที่อเมริกาได้ทำจึงต้องยกเลิกให้ได้แต่เปลี่ยนใจจึงได้เริ่มกระบวนการเตรียมการเจรจาโดยผู้แทนการค้าคนใหม่นาย Robert E. Lighthizer ซึ่งได้กำหนดเวลา 90 วันในการหารือกับสภา ภาคเอกชนและสังคมว่าจะเจรจาต่อไปหรือไม่โดยได้ส่งจดหมายไปยังสภาว่าจะต้องมีการเจรจาหลายหัวข้อเช่น เศรษฐกิจดิจิตัล ทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะที่น่าสนใจคือมาตรฐานปลอดภัยอาหารซึ่งผมเห็นว่าประเด็นเหล่านี้มีบรรจุอยู่ในการเจรจาข้อตกลง TPP ด้วยจึงไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไรที่จะต้องสละ TPP แต่ยังดำเนิน NAFTA ต่อโดยสร้างความสับสนกับประเทศภาคีที่เจรจา TPP ซึ่งแพแตกและกำลังหาทางออกว่าจะดำเนินการต่อให้เสร็จโดยปราศจากสหรัฐฯซึ่งเราคงต้องรอต่อไปโดยมีข้อสังเกตว่าบทบาทของญี่ปุ่นจะมีความสำคัญซึ่งมีความหมายคล้ายกับข้อตกลงที่กำลังดำเนินการอยู่ภายใต้ RCEP(Regional Comprehensive Economic Partnership) โดยมีจีนเป็นประเทศหลัก

ประเด็นที่ต้องติดตามการเจรจาในกรอบนี้คือจะหาข้อสรุปให้เป็นข้อตกลงเดียวอย่างไรในเรื่องเดียวกันในข้อตกลงหลายๆข้อตกลงที่หลายประเทศได้มีอยู่ทั้งภายใต้ ASEAN และสองต่อสอง เช่นไทยมีข้อตกลงกับญี่ปุ่นแต่ขณะเดียวกันก็อยู่ใน ASEAN ที่มีข้อตกลงกับญี่ปุ่นเช่นกัน สุดท้ายเป็นข้อตกลงที่สำคัญมากซึ่งมีประเทศสมาชิกมากกว่า WTO เสียอีกคือข้อตกลงลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้สหประชาชาติ แต่สหรัฐก็กำลังสร้างความไม่แน่นอนว่าจะยังร่วมอยู่ต่อไปหรือไม่เพราะนายทรัมป์ประกาศไม่สนับสนุนและถอนตัวออกจากการสนับสนุนทางกางเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนาไปแล้วแต่ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯกลับให้สัมภาษณ์ในระหว่างการประชุมกลางปีที่กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมัน ถึงความสำคัญของภาวะเรือนกระจก สหรัฐฯคงต้องตัดสินใจในเร็ววันนี้ก่อนการประชุมใหญ่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมันเช่นกัน

ผมยกทั้ง 4 เรื่องนี้ขี้นเพื่อพิจารณาว่าเราจะรอผลของการเจรจา(หรือไม่เจรจา)หรือต้องศึกษาผลกระทบในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่าเราจะกำหนดยุทธศาสตร์อย่างไรเหมือนกับข้อตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพราะนั่นก็เท่ากับว่าเราจะเสียโอกาสพัฒนาไปอีกครั้งและจะเป็นผู้ตามต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,265 วันที่ 28 - 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560