อินเดีย...เปลี่ยนความหวาดกลัว สู่โอกาสทางการค้า

24 พ.ค. 2560 | 05:00 น.
สัปดาห์นี้ผมนั่งเขียนบทความท่ามกลางอากาศร้อน 47 องศาเซลเซียส ในโรงแรมริมถนนJanpath ใกล้ๆ วงเวียน Connaught Place ในกรุงเดลี เมืองหลวงของประเทศอินเดีย ที่ต้องเดินทางมาครั้งนี้ก็เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับศูนย์อินเดียศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีหัวหน้าคณะผู้วิจัยคือ ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุลผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิดแห่งคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เชี่ยวชาญภาษาฮินดี และสังคม-วัฒนธรรมอินเดียเป็นเพื่อนร่วมทีม งานวิจัยของเราเน้นศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-ไทย บนพื้นฐานความสัมพันธ์อินเดีย-อาเซียน (ซึ่งปีนี้จะเป็นการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ 25 ปี อินเดีย-อาเซียน) ด้วยมุมมองแบบสหสาขาวิชา

คณะของเราได้มีโอกาสทำการระดมสมองร่วมกับ Team Thailandประจำอินเดียอันประกอบไปด้วย ท่านเอกอัครราชทูตชุตินทร คงศักดิ์, คุณอภิรัตน์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุงอัครราชทูต, ท่านอัครราชทูตที่ปรึกษา,เลขานุการเอก, เลขานุการโท, ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ, ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารอากาศ และนักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

ประเด็นที่น่าสนใจหนึ่งในหลายๆประเด็นที่เราคุยกันก็คือ ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้ว่าอินเดียคือดินแดนแห่งโอกาส ตลาดขนาด 1,280 ล้านประชากร กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทุกๆ วัน พื้นที่ขนาดใหญ่เท่าๆกับอนุทวีป ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลและข้อตกลงทางการค้าที่จะทำให้สินค้าและการลงทุนได้เปรียบในหลายๆประการ แต่ทำไมมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างไทย-อาเซียน-อินเดีย ถึงตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น

จากการเดินทางสำรวจข้อมูลทั้งจากไทย มาเลเซีย เมียนมา เวียดนามและอินเดีย ทีมวิจัยวิเคราะห์เหตุผลเพื่อตอบคำถามข้างต้นด้วย 3 สาเหตุ

1.ความเข้าใจผิดในอัตลักษณ์เรามีความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนโดยมักจะมองว่า “แขกขี้โกง” “เจองูกับเจอแขก ให้ตีแขกเสียก่อน” ทั้งที่ในความเป็นจริงพ่อค้า นักธุรกิจอินเดียมีหลายกลุ่ม แน่นอนมีทั้งคนดีและคนไม่ดี อาจจะเป็นเพราะชาวภารตส่วนหนึ่งที่เข้ามาในประเทศไทยในอดีตเป็นกลุ่มที่ยากจนหนีความแห้งแล้งกันดารของอินเดียเข้ามาในไทย คนกลุ่มนี้อาจจะมาปล่อยเงินกู้ มาเลี้ยงวัว มาเป็นยาม และสร้างภาพที่ไม่ดีซึ่งมักจะถูกขยายเกินจริง

[caption id="attachment_153309" align="aligncenter" width="503"] อินเดีย...เปลี่ยนความหวาดกลัว สู่โอกาสทางการค้า อินเดีย...เปลี่ยนความหวาดกลัว สู่โอกาสทางการค้า[/caption]

แต่อย่าลืมว่า กลุ่มพ่อค้าเพชรกลุ่มเจ้าของโรงงานทอผ้าเย็บเสื้อ กลุ่มนักธุรกิจไทยเชื้อสายอินเดียอีกเป็นจำนวนหลายๆ หมื่นคน เขาไม่ได้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ภาพลักษณ์ด้านลบมักจะถูกขยายความให้ใหญ่โตเกินจริง ในขณะที่ในประเทศเพื่อนบ้านเรา เมียนมามองคนอินเดียว่าเป็นนักธุรกิจที่เก่งมาเลเซียมองคนอินเดียว่าเป็นคุณหมอที่มีความสามารถ เวียดนามอยากส่งลูกหลานไปเรียนต่อที่อินเดีย และทั้งหมดมองว่าอินเดียคือแหล่งผลิตสินค้าคุณภาพดี ราคาถูก

2.ความกลัวประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หลายๆ ครั้งการเจรจาการค้ามีความล่าช้า และการใช้ประโยชน์จากโอกาสทางเศรษฐกิจก็ทำได้ไม่เต็มที่ เพราะเรากลัวไปสารพัด ไม่ว่าจะกลัวว่าเขาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ หากเปิดตลาดจะถูกครอบงำตลาด คนอินเดียมีความสามารถสูง พวกเขาต้องแข่งขันกับคนเป็นพันล้าน เป็นแรงงานที่เก่งและค่าแรงถูก โดยเฉพาะในผู้ประกอบวิชาชีพทางด้านเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์และการคิดคำนวณ ถ้าเปิดตลาดแล้วคนของเขาเข้ามา คนของเราจะถูกแย่งงาน ความเข้าใจเหล่านี้เป็นความเข้าใจที่ผิด และไม่น่าจะส่งผลดีในระยะยาว

เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณสร้างกำแพงป้องกันการแข่งขัน กำแพงเหล่านี้จะทำให้คนที่ได้รับการปกป้องเฉื่อยชา และล้าหลัง ประสิทธิภาพลงไปเรื่อยๆ ต้นทุนการผลิตของประเทศที่อยู่หลังกำแพงก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะไม่มีใครสนใจที่จะทำการค้าการลงทุนในประเทศหลังกำแพงนี้อีกต่อไป ความเข้าใจที่ถูกต้องคือ เราต้องให้เกิดการแข่งขัน ดึงคนเก่งๆ ค่าจ้างถูกๆ เข้ามาเข้ามาผลิตเข้ามาเพื่อให้เราเรียนรู้ และสอนให้คนของเราเก่งขึ้นเพื่อแข่งขันกับเขาให้ได้ นักมวยที่เก่งแต่ในการชกกระสอบทราย แต่ไม่กล้าต่อยบนเวทีกับคู่ต่อสู้จริงๆ ไม่มีทางเป็นแชมเปี้ยนได้นะครับ

3.ความคิดว่าอินเดียคือศูนย์กลางของจักรวาล (India Centric) ความคิดของนักธุรกิจอินเดียที่ผลิตสินค้าได้ราคาตํ่า คุณภาพดี แต่เฉื่อยชาต่อการออกไปทำการค้าการลงทุนในต่างประเทศเพราะคิดแต่ว่า ตลาดภายในประเทศตนเองใหญ่ 1,280 ล้านคน อินเดียกินของฉัน ใช้ของฉัน ก็พอแล้ว ทำไมต้องไปค้าขายกับต่างประเทศ ความคิดแบบนี้ทำให้นักธุรกิจอินเดียจำนวนมากไม่สนใจทำการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ ประกอบกับนักธุรกิจส่วนใหญ่มักจะคิดพิจารณาแต่ปัจจัยทางด้านอุปทาน ฉันผลิตอันนั้นดี ฉันผลิตอันนี้ถูก ฉันผลิตสิ่งนี้เก่ง และพยายามแต่จะขายของที่ตนชอบผลิต โดยไม่สนใจว่าลูกค้าชอบแบบนั้นด้วยหรือไม่

การขาดการศึกษาเข้าใจในเรื่องของอุปสงค์ ทำให้ไม่สามารถปรับปรุงสินค้าและบริการของตนให้กลายเป็นสินค้าและบริการที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาดที่มีโอกาสขยายตัวสูงโอกาสในการทำการค้าการลงทุนในอินเดียจะเกิดก็ต่อเมื่อ ไทยเรารู้ครับว่าคนอินเดียชอบกินอะไร ใช้บริการแบบไหน ในขณะเดียวกันก็ต้องมาSourcing สินค้าและบริการอินเดียที่คุณภาพดี ราคาถูก และคนไทยชอบกลับไปขายที่บ้านเราครับ

นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราคิดวิเคราะห์กันในงานวิจัยโครงการนี้ครับสำหรับงานวิจัยฉบับสมบูรณ์น่าจะแล้วเสร็จและเผยแพร่ได้ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ในงานสัปดาห์จุฬาฯอาเซียนครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2560 ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,264 วันที่ 25 - 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2560