ฟินเทค 4 หมวด

22 พ.ค. 2560 | 04:00 น.
ฟินเทค หรือเทคโนโลยีด้านการเงิน ในปัจจุบันมีความหลากหลายอาจจะทำให้เข้าใจได้ยาก การจัดหมวดหมู่ของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าใจภาพรวมของฟินเทคได้ง่ายขึ้นและมีหลายองค์กรได้ทำการจัดหมวดหมู่ของฟินเทคไว้

วันนี้ผู้เขียนขอยกหมวดหมู่ฟินเทคในบทความเรื่อง FinTech: A Primer มาเล่าให้ฟัง โดย Meghan Milloy ได้แบ่งฟินเทคไว้เป็น 4 หมวดใหญ่ ได้แก่1.ระบบตลาดกู้เงินออนไลน์ 2.การระดมทุนจากกลุ่มคน 3. เทคโนโลยีบล็อกเชนและเงินดิจิตอล 4. การชำระเงินและการบริหารความมั่งคั่งผ่านมือถือ

1.ระบบตลาดกู้เงินออนไลน์เป็นเทคโนโลยีที่นำผู้อยากกู้เงินกับนักลงทุนมาพบกัน ซึ่งผู้มีความต้องการกู้เงินอาจจะเป็นบุคคลธรรมดาที่ต้องการเงินเพื่อภาระส่วนตัวหรือนิติบุคคลที่ต้องการทำธุรกิจก็ได้ โดยตลาดกู้เงินออนไลน์นี้ เริ่มมาจากการให้กู้เงินแบบ peer-to-peer คือ นักลงทุนบุคคลเป็นผู้ระบุว่าจะให้ผู้ขอกู้คนใดได้กู้เงินของตนเป็นจำนวนเท่าใด แต่ในระยะต่อมามีการพัฒนากระบวนการโดยขยายกลุ่มนักลงทุนเพื่อเปิดให้ผู้ลงทุนสถาบันต่างๆ เข้ามาลงทุน และเพิ่มรูปแบบการกู้แบบแพลตฟอร์มขึ้นมาด้วย

รายได้ของตลาดกู้เงินออนไลน์มาจากค่าธรรมเนียมแรกเข้า ค่าบริการที่เก็บเป็นส่วนแบ่งจากดอกเบี้ย และค่าปรับเมื่อจ่ายล่าช้า รายได้ของนักลงทุนมาจากส่วนที่เหลือของดอกเบี้ย และผู้กู้ได้รับประโยชน์จากกระบวนการที่คล่องตัวการตัดสินใจปล่อยกู้ที่รวดเร็วและแหล่งทุนที่หลากหลาย ทำให้ผู้กู้สามารถเข้าถึงสินเชื่ออย่างรวดเร็วและสามารถขอสินเชื่อจำนวนน้อยและระยะเวลาสั้นได้

2.การระดมทุนจากกลุ่มคนหรือ crowdfunding เป็นทางเลือกของการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการหรือกิจการ ซึ่งผู้ริเริ่มโครงการจะนำเสนอโครงการและขอทุนจากหลายๆ คนแทนที่จะรับทุนจากคนหรือองค์กรเดียวcrowdfunding ประกอบด้วยผู้เล่น 3กลุ่ม ได้แก่ ผู้ริเริ่มโครงการ กลุ่มผู้สนับสนุน และแพลตฟอร์มที่นำทั้ง 2 ฝ่ายมาพบกัน (เช่น Kickstarter, Indiegogo ฯลฯ)

การทำ crowdfunding ส่วนใหญ่เป็นแบบรับบริจาค หรือให้รางวัลตอบแทน คือ ผู้ให้ทุนให้เงินกับโครงการเพื่อแลกกับรางวัลบางประเภท (เช่นการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนวางขายในตลาดส่วนลดการซื้อสินค้าหรือการประกาศเกียรติคุณการบริจาค)

การระดมทุนแบบนี้ถูกออกแบบมาเพื่อระดมทุนให้ได้ 2 หรือ 3 พันดอลลาร์สหรัฐฯและผู้ประกอบการไม่ต้องแบ่งปันหุ้นของบริษัทให้กับผู้ให้ทุนแต่อย่างใด จึงทำให้การระดมทุนแบบนี้เป็นที่นิยมของนักนวัตกรรมจำนวนมาก

นอกจากการทำ crowdfunding แบบที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังมี crowdfunding แบบที่มีการแบ่งหุ้นของบริษัทให้ผู้ให้ทุน และแบบที่นับเป็นการกู้เงินแบบ peer-to-peer อีกด้วย

(ตอนต่อไป บล็อกเชนและเงินดิจิตอล)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560