‘OBOR’กับการเชื่อม ระเบียงเศรษฐกิจโลก

21 พ.ค. 2560 | 00:00 น.
One Belt One Road (OBOR) คือยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของจีนที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xi Jinping) จากที่ท่านได้เดินทางไปเยือน 4 ประเทศในเอเซียกลางคือ คาซัคสถาน (Kazakstan) เติร์กเมนิสถาน (Turkmenistan) อุซเบกิสถาน (Uzbekistan) และ คีร์กีซสถาน (Kyrgyzstan) เพื่อร่วมประชุม “Shanghai Cooperation Organization Summit : SCO)” เมื่อวันที่ 3 - 13 กันยายน 2556 หลังจากนั้นวันที่ 2 ตุลาคม 2556 ประธานาธิบดีสี ก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศอินโดนีเซีย และพูดถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจในกรอบ “China-ASEAN FTA” ที่มีเป้าหมายผลักดันให้มีมูลค่าทางการค้าของสองภูมิภาคให้ได้ 1 ล้านล้านเหรียญในปี 2563

นโยบาย OBOR ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญคือ การเชื่อมโยงทางถนน (Silk Road Economic Belt) หรือเรียกว่า “One Belt” มีมณฑลที่เกี่ยวข้องคือ Xinjiang, Qinghai, Ningxia, Gansu, Shaanxi, Sichuan และ Yunnan และ การเชื่อมโยงทางทะเล (21st-Century Maritime Silk Road) หรือที่เรียกว่า “One Road” มีมณฑลที่เกี่ยวข้องคือ Jiangsu, Zhejiang, Fujian, Guangdong และ Hainan

นโยบาย OBOR จะไปเกี่ยวข้องกับคนมากถึง 4.4 พันล้านคน ใน 65 ประเทศ มี GDP รวมมากกว่า 2 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์ จะมีการลงทุน 8 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์ จะมีเส้นทางรถไฟทั้งหมดยาว 8 หมื่นกิโลเมตร นอกจาก OBOR จะเชื่อมจีนทั้งทางถนนและทางน้ำแล้ว OBOR จะสำเร็จไม่ได้เลย หากปราศจากการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ซึ่ง OBOR จะเกิดผลเป็นรูปธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นได้นั้นมีอยู่ 5 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญและอีก 1 เส้นทางที่เกี่ยวข้องดังนี้

1.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-มองโกเลีย-รัฐเซีย (The China-Mongolia-Russia Economic Corridor : CMREC) 2.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (The China-Pakistan Economic Corridor : CPEC) 3.ระเบียงเศรษฐกิจบังคลาเทศ-จีน-อินเดีย-เมียนม่าร์ (Bangladesh-China-India-Myanmar Economic Corridor : BCIMEC) 4.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-คาบสมุทรอินโดจีน (China-Indochina Peninsula Economic Corridor : CICPEC) 5.ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เอเซียกลางและตะวันตก (China-Central and West Asia Economic Corridor : CCWAEC) และกับเส้นทางยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge)

ผมขอคลี่ระเบียงเศรษฐกิจข้างต้นเท่าที่เนื้อที่ของบทความจะมีนะครับ ขอเริ่มจาก “CMREC” มีการลงนามแผนการพัฒนา (Development Plan) เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 โดยประธานาธิบดีสีของจีน ประธานาธิบดีปูติน (Vladimir Putin) ของรัฐเซียและประธานาธิบดีซักเกีย แอลแบกดอร์จ (Tsakhia Elbegdorj) ของมองโกเลียเพื่อเชื่อมโยงทางถนน อากาศ และทางทะเล และร่วมมือการพัฒนาใน 7 ด้านหลักได้แก่ การค้า การขนส่ง เหมืองแร่ การเกษตร ป่าไม้ อุตสาหกรรมไฮเทคและพลังงาน เป็นต้น

กรอบความร่วมมือ CMREC จะเป็นการเชื่อม OBOR ของจีนกับเส้นทาง Trans-Eurasian Belt ของรัสเซีย ที่เชื่อมทั้งทางถนนและรถไฟจากเอเซียไปยุโรปและอเมริกาเหนือ โดยเริ่มจากนิวยอร์ค ผ่านมอสโค ผ่านเบอร์ลินของเยอรมัน ถึงลอนดอนด้วยระยะทาง 20,000 กม. ซึ่ง Trans-Eurasian Belt สามารถเชื่อมโยงกับเส้นทาง 2 เส้นของ CMREC คือจากท่าเรือเมืองเทียนจิ่น (Tianjin) ผ่านปักกิ่งไปยังเมืองหลวงของมองโกเลีย อูลานบาตอร์ (Ulaanbaatar) ด้วยระยะทาง 1,920 กม.และอีกเส้นทาง 2,240 กม.เชื่อมเมืองซอยบัลลาน (Choibalsan) ของมองโกเลียกับท่าเรือต้าเลี่ยน (Dalian) ของจีน และเมืองชิตะ (Chita) ของรัสเซีย และยังเชื่อมกับถนนแพรี่ (Prairie Road) ของมองโกเลีย ซึ่ง CMREC ยังสามารถไปเชื่อมโยงกับเส้นทางยูเรเซียใหม่ (New Eurasian Land Bridge) ที่เริ่มจากท่าเรือเหลียนหยุนกั้ง (Lianyungang) ในมณฑลเจียงซู (Jiangsu) ไปยังท่าเรือรอตเทอร์ดาม (Rotterdam) ของฮอลแลนด์ได้อีกด้วย

กรอบความร่วมมือของ 3 ประเทศนี้จีนต้องการซื้อถ่านหินจากมองโกเลียและต้องการก๊าซจากรัสเซีย ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งสินค้าของอุตสาหกรรมที่จำเป็นของจีนออกไปขายยัง 2 ประเทศอีกด้วย

ต่อมาเป็นระเบียง “CPEC” เป็นการเชื่อมถนนไฮเวย์คาราโคราม (Karakoram Highway) ของปากีสถานกับมณฑลซินเจียง (Xinjiang) นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมท่าเรือ กวาดาร์ (Gwadar) ของปากีสถานกับเมืองคัชการ์ (Kashgar) มณฑลซินเจียด้วยระยะทาง 2,395 กม. ซึ่งจะทำให้จีนย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งน้ำมันและสินค้าจากตะวันออกกลางแทนที่จะอ้อมการขนส่งจากช่องแคบมะละกา (Strait of Malacca)

ส่วนระเบียง “BCIMEC” นั้นเป็นการเชื่อมจีนกับเอเซียใต้โดยมีการสร้างทางรถไฟ และความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ได้แก่ โทรคมนาคม เหล็ก และพลังงาน โดยมีการสร้างรถไฟความเร็วสูงจากเมืองคุณหมิง (Kunming) มณฑลยูนนานกับกัลกัตตา (Kolkata) เมืองหลวงรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดีย เมืองมัณฑะเลย์ของพม่าและกรุงดาการ์ (Dhaka) ของบังคลาเทศ

[caption id="attachment_152065" align="aligncenter" width="503"] ‘OBOR’กับการเชื่อม ระเบียงเศรษฐกิจโลก ‘OBOR’กับการเชื่อม ระเบียงเศรษฐกิจโลก[/caption]

ภายใต้ BCIMEC จะทำให้จีนสามารถเชื่อมการค้าการลงทุนกับรัฐเจ็ดสาวน้อยของอินเดีย (Seven Sisters) ซึ่งโครงการท่อน้ำมันจากท่าเรือจ้าวผิวของพม่าไปยังเมืองคุณหมิงของจีนก็อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือ BCIMEC

ระเบียง “CICPEC” มีการเชื่อมโยง 2 เส้นทางคือทางบกกับทางน้ำและภายใต้กรอบความร่วมจีน-อาเซียน (China-ASEAN Free Trade Area : CAFTA) ทางบกเป็นการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากคุณหมิงกับอาเซียนภายใต้โครงการ “รถไฟสิงคโปร์-คุณหมิง” ซึ่งผ่านทางสปป.ลาวกับผ่านทางเวียดนาม แล้วเข้าประเทศไทยทะลุไปเป็นการสิงคโปร์ ส่วนการเชื่อมโยงทางทะเลเป็นการเชื่อมกับอาเซียนผ่านทาง เขตการพัฒนาเศรษฐกิจ “Greater Pearl River Delta (GPRD)” หรือที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจ “9+2 Cities” คือ 9 เมืองของกวางตุ้ง บวก ฮ่องกง และมาเก๊า

เขต GPRD มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับ 35 ล้านล้านบาท เฉพาะ Pearl River Delta (9 เมืองของมณฑลกว่างตุ้ง) มี GDP เท่ากับ 22 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงท่าเรือของมณฑลเจียงซู (Jiangsu) เจ้อเจียง (Zhejiang) และฟู่เจียน(Fujian) ซึ่งทำให้จีนสามารถขนส่งสินค้ากับประเทศในอาเซียน และ “CCWAEC” เชื่อมจีนกับเอเซียกลางครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,263 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2560