แอพโรคยา ปรมาลาภา การมีแอพเป็นลาภอันประเสริฐ

23 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
“ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ใครๆ ก็ปรารถนาสิ่งนี้ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ จากข้อมูลพบว่าจำนวนโรคภัยไข้เจ็บบนโลกเรามีมากขึ้นเรื่อยๆ ดูตัวเลขแล้วอย่าตกใจว่ามีจำนวนมากกว่า 3 หมื่นโรค ยกตัวอย่างโรคเบาหวาน องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่าช่วง 35 ปีที่ผ่านมาทั่วโลกมีผู้ใหญ่เป็นเบาหวานเพิ่มขึ้น 4 เท่าเป็น 422 ล้านคน (ในปี 2557) หรือข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตในประเทศไทยรายงานว่า ในปี 2559 มีผู้ที่เข้ามารับบริการด้านจิตเวชทั้งประเทศ 925,911 คน ผมหาข้อมูลไปถึงรายงานจำนวนผู้ป่วยนอกของสถานบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุขทั่วราชอาณาจักรพบว่ามีจำนวนการเจ็บป่วยถึง 168ล้านเคส(ในปี 2557) ประชากรบนโลกเรามี 7,000 ล้านคนด้วยการรักษาของแพทย์ราว 4 ล้านคน ทำให้ภาระหนักตกอยู่ที่คุณหมอ

[caption id="attachment_131378" align="aligncenter" width="503"] แอพโรคยา ปรมาลาภา การมีแอพเป็นลาภอันประเสริฐ แอพโรคยา ปรมาลาภา การมีแอพเป็นลาภอันประเสริฐ[/caption]

Startup Trends ทั้งหลายมี Healthtechอยู่ในนั้นแน่นอน เนื่องจากเหตุผลต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น จากรายงานของ European Healthtech Report 2016 มีการแบ่ง HealthTechออกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ CareTech 37% HealthTech 31% MedTech 25% และLifescience 7% ดูจากจำนวนดีลที่เกิดขึ้นมีประเทศอังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นผู้นำ ตามมาด้วยสวีเดน เบลเยียม และเยอรมนี มีการระดมทุนเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 90 ล้านยูโร
หากพิจารณาแนวโน้มเรื่องการรักษาพยาบาลในอนาคตอาจมองได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้ 1. การวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ (Big Data) เนื่องจากแนวโน้มของการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่กำลังเติบโต ทางด้านการรักษาซึ่งมีข้อมูลมหาศาลก็ต้องใช้โอกาสนี้เช่นกัน

2. การป้องกันมากกว่าการรักษา (Prevention) ในอดีตเรามักจะไปโรงพยาบาลหรือพบแพทย์เมื่อเจ็บป่วย แต่ปัจจุบันคนจะเน้นการป้องกัน การตรวจสุขภาพหรือ Medical Check-up มากขึ้นเรื่อยๆ ดูจากเทคโนโลยีใกล้ตัวเราเช่นการวัดประสิทธิภาพของการนอนหลับ การนับก้าวเดินในแต่ละวันหรือแม้แต่ Apple Watch ยังแนะนำให้เราพักหายใจวันละหลายๆ รอบ (โดยส่วนตัวผมชอบมากเพราะทำทีไรก็รู้สึกดีทุกครั้ง)

3. นวัตกรรมด้านสุขภาพ (Innovation) อาทิ โครงการเครือข่ายไร้สายในบ้านอัจฉริยะสำหรับผู้สูงอายุของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ไม่ใช่แค่บ้านไฮเทค แต่รวมไปถึงการวัดคลื่นสมอง จับสัญญาณชีพ เตือนเมื่อเกิดสภาวะหลงลืม ได้แก่ ลืมปิดประตู ลืมปิดน้ำ ปิดไฟ หรือ ปิดแก๊ส ซึ่งเป็นการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมพร้อมฐานข้อมูลสำหรับเฝ้าระวัง แจ้งเตือนกรณีที่ผู้สูงอายุล้ม และตรวจสัญญานชีพ Heart Attack บอกเลยว่าว้าวมากครับ

4. การเข้าถึงระบบการรักษาพยาบาลจากทางไกล อันนี้รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเอง ผมเพิ่งโหลดแอพชื่อว่า My Health+ by Samitivejในแอพนี้สามารถดูผลตรวจสุขภาพทั้งหมด ดูรายงานแพทย์ที่ผมเคยพบพร้อมทั้งนัดหมายได้ทุกท่าน (หลายครั้งเราจำชื่อแพทย์ไม่ได้ใช่ไหม อันนี้ดีนะครับ) รายการยา และภาพ X-Ray ต่างๆ ของผม (อันนี้ก็ชอบมากเห็นถึงปอดตัวเองทีเดียว) และแน่นอนเตือนนัดหมายในการพบแพทย์ในครั้งต่อไป แอพนี้อาจจะเข้าใช้ยากสักหน่อย เพราะต้องไปขอ Password จากที่โรงพยาบาล แต่ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ แต่พอโหลดมาใช้แล้วก็รู้สึกอุ่นใจขึ้นครับ และ 5. อุปกรณ์ Hardware เพื่อการรักษาสมัยใหม่ ในรายงาน HealthTechของยุโรป ประเภทของธุรกิจที่มีสัดส่วนสูงที่สุด ได้แก่ Hardware ด้านสุขภาพ ในประเทศไทยเองมีการจัดงาน HEALTH Tech 4 Good Forum ทีมที่ชนะเลิศได้แก่ BOT Therapist หุ่นยนต์ช่วยบำบัดอาการผู้ป่วยออทิสติก หุ่นยนต์ Bliss เป็นเหมือนเพื่อนเล่นของผู้ป่วยออทิสติก ทำให้มีพัฒนาการทางร่างกาย และสมองที่ดีขึ้น หุ่นยนต์ Bliss มีตาและคิ้วที่มอบความอบอุ่นเหมือนได้เล่นกับเพื่อน มีเกมให้เล่น เนื่องจากอาการออทิสติกต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ นับว่าเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจมากครับ

ในอนาคตคาดว่าคนจะมีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น การรักษาโรครวมถึงการดูแลร่างกายก็จะดีขึ้น HealthTechต่างๆ จะมีบทบาทในชีวิตของเราเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามแอพลิเคชั่นต่างๆ ก็เป็นตัวช่วย ตัวเราเองก็ต้องดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีด้วยจะได้มีอายุยืนยาว อ๊ะ นาฬิกาเตือนให้พักสูดอากาศอีกละครับ ขอตัวไป Inhale and Exhale ก่อนครับ ขอให้สุขภาพแข็งแรงทุกท่านครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,238 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2560