ทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกปี60 ผลกระทบอัญมณีฯไทย

19 ก.พ. 2560 | 04:00 น.
สัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปบรรยายให้กับแขกรับเชิญจำนวนเกือบ 200 คนของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หัวข้อที่ได้รับมอบหมายคือทิศทางเศรษฐกิจการค้าโลกในปี 2560 และผลกระทบต่ออัญมณีและเครื่องประดับไทย ทั้งนี้การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบการส่งออกทั้งหมด หรือหากจะเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติสูงถึง 4% แม้ว่าจะหักการส่งออกทองคำ ก็ยังมีมูลค่าสูงมากอยู่ดี ตัวเลขที่ว่านี้นั้นไม่รวมการส่งออกผ่านนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาซื้อกลับไป ดังนั้นอุตสาหกรรมนี้จึงมีความสำคัญต่อไทยเป็นอย่างมาก

หากไม่พิจารณาการส่งออกทองคำแล้ว ตลาดหลักที่ไทยส่งออกประกอบไปด้วยฮ่องกงซึ่งส่งออกต่อไปยังประเทศจีนที่มีทั้งเพชรพลอยและเครื่องประดับแท้ สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดผู้นำเข้าที่สำคัญของเครื่องประดับแท้ และเพชรและพลอย ออสเตรเลีย เยอรมนี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นคู่ค้าเครื่องประดับแท้ที่สำคัญของไทย การส่งออกเฉพาะเครื่องประดับแท้รายการเดียวมีมูลราคาการส่งออกเกือบ 1.3 แสนล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีพลอยและเพชรรวมกันประมาณอีก 1แสนล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก และแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้เป็นแรงงานที่มีทักษะมีรายได้สูงกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำมากนัก นำไปสู่การกระจายรายได้ของประเทศ
เมื่อพิจารณาถึงการนำเข้า ห่วงโซ่อุปทานการผลิตไทยนั้น ไทยนำเข้าวัตถุดิบเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะการนำเข้าพลอยจากทวีปแอฟริกา ไทยมีดีคือวิธีการปรับปรุงคุณภาพพลอยและช่างฝีมือที่มีทักษะสูง เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก อุตสาหกรรมนี้จึงแตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่นค่อนข้างมากที่มีห่วงโซ่การผลิตอยู่ในเอเชียตะวันออก

จากการคาดคะเนทิศทางเศรษฐกิจโลกจากหลายสำนักพยากรณ์สรุปได้ว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2560 น่าจะกระเตื้องขึ้น แม้ว่าจีนจะเติบโตช้าลงบ้างเล็กน้อยแต่จะเป็นการเติบโตอย่างมีคุณภาพเพราะได้ลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจฟองสบู่ลง ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปจะเติบโตแบบไม่หวือหวานัก ขณะที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีคนใหม่จะมีการเติบโตค่อนข้างมากเป็นพิเศษ เนื่องด้วยนโยบายสนับสนุนหลายด้านอาทิเช่นการลดภาษีนิติบุคคล และภาษีรายได้บุคคล นโยบายกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน โดยพยายามที่จะดึงการลงทุนกลับเข้า ทำให้อย่างน้อยในระยะสั้นการค้ากับสหรัฐอเมริกาจึงจะเป็นตลาดที่สดใสมากพอสมควรเพราะรายได้ของคนรวยที่ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจะมีเหลือมากขึ้น

ความเสี่ยงนั้นอยู่ที่ว่าสหรัฐอเมริกาได้เปิดประเด็นต่อสู้ทางการค้าโดยเฉพาะกับประเทศในเอเชียตะวันออก เริ่มตั้งแต่การถอนตัวออกจากกลุ่ม TPP และมีแนวโน้มที่จะหยุดการเจรจากับกลุ่ม TTIP นอกจากนี้สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะปรับอัตราภาษีศุลกากรกับประเทศจีนให้สูงขึ้น ซึ่งจะจุดชนวนของการทำสงครามทั้งการค้า จีนเองนั้นก็คงจะไม่ยอมและอ่อนข้อให้กับคำขู่ของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าขณะนี้จีนได้เตรียมมาตรการการตอบโต้หากเกิดสงครามทางการค้าขึ้นจริง อีกทั้งต้องมีการเรียกร้องเพื่อหาความเป็นธรรม ผ่านองค์การการค้าโลก ความเสี่ยงด้านอื่นก็คงยังมีอยู่อาทิเช่นเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ยังไม่ฟื้นตัวแม้ว่าจะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำจนกระทั่งถึงติดลบ เศรษฐกิจสหภาพยุโรป ที่ NPL ของธนาคารพาณิชย์ยังไม่ลดลง ประกอบกับสหราชอาณาจักรที่เดินหน้าออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป

จุดขายของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในอนาคตแม้ว่าจะขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ซื้อและราคาที่แข่งขันได้ ได้มีข้อเสนอแนะอีกหนึ่งประการคือ เรื่องของคุณค่าทางใจของตัวสินค้าที่สามารถนำมาสร้างมูลราคาเพิ่มได้อาทิ การผลิตสินค้าที่มีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการผลิต สินค้าที่มีเอกลักษณ์ของท้องถิ่นหรือสะท้อนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไปควบคู่กับการออกแบบที่ทันสมัย การค้าในอุตสาหกรรมนี้ที่จริงแล้วขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ซื้อว่ายินดีที่จะจ่ายเท่าไหร่ซึ่งก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงเท่านั้น

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้รับข่าวดีในไม่กี่สัปดาห์ที่เพิ่งผ่านมา เพราะได้รับการปรับภาษีศุลกากรนำเข้าใหม่ ในอัตราเหลือร้อยละศูนย์หรือไม่มีภาษีศุลกากรอีกแล้ว ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นกระตุกให้อุตสาหกรรมนี้สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วในเวลาอันใกล้ ลองเฝ้าดูให้ดีนะครับ โอกาสมาแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,237 วันที่ 19 - 22 กุมภาพันธ์ 2560