สหรัฐฯ จะเจอ Stagflation?

17 ก.พ. 2560 | 00:00 น.
colum20-3236a ว่ากันว่า สินค้า “เมดอินสหรัฐฯ” ที่ส่งเข้าไปขายในจีนทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯนั้น ก็จะถูกจีนส่งสินค้า “เมดอิน ไชน่า” กลับไปขายสหรัฐทุกๆ 4 ดอลลาร์สหรัฐฯเช่นกัน นั่นหมายความว่า สหรัฐฯทุกวันนี้ กำลังขาดดุลการค้าให้กับจีนอยู่สูงถึง 4 เท่าตัว

ประธานาธิบดี โดนัลด์ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา จี้เรื่องการขาดดุลการค้ากับต่างชาติมาโดยตลอด ตีโพยตีพาย ไปยังข้อตกลงการค้าต่างๆว่าเป็นต้นเหตุทำให้คนสหรัฐฯตกงานบ้าง ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้ามาก ทั้งๆที่กลไก และกฎเกณฑ์ของการทำการค้าแบบเสรีนั้นสหรัฐฯก็เป็นผู้คิดค้นมาเองทั้งสิ้น

สิ่งที่นาย ทรัมป์บอก ก็คือ จีน ได้ทุ่มตลาดสหรัฐฯด้วยสินค้าราคาถูก ทำให้สหรัฐฯเสียดุลการค้ากับจีนมหาศาล ซึ่งทรัมป์อาจจะใช้วิธีกำหนดกำแพงภาษีสินค้าจากจีนสูงถึง 45%

นายทรัมป์ ยังบอกว่า จีนแทรกแซงค่าเงินหยวนทำให้จีนได้เปรียบในการทำการค้าต่างประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า ก็เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ทำให้คนสหรัฐฯตกงานดังนั้นสหรัฐฯ ต้องเจรจาใหม่ใน 90 วันนี้ ส่วนข้อตกลงทีพีพี นั้นเป็นข้อตกลงการค้าที่เป็นหายนะ สหรัฐฯขอถอนตัวไปแล้ว

เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ นาย ทรัมป์ จึงใช้นโยบายที่เรียกกันว่า อเมริกาเฟิร์สท์ (America First) หรืออเมริกาต้องมาก่อน สินค้าต้องผลิตในสหรัฐฯ โดยคนสหรัฐฯ ขายในสหรัฐฯ คนสหรัฐฯต้องไม่ตกงาน สหรัฐฯต้องไม่เสียเปรียบการค้ากับใครด้วย ฟังดูแล้ว โลกสวยไม่เบาครับ

ดังนั้น นโยบายต่างๆของนายทรัมป์ ที่จะมุ่งทำก็มีทั้งใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจแบบกระตุ้นการใช้จ่าย มุ่งหน้าใช้นโยบายงบประมาณแบบขาดดุล ดึงภาคการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ ลดภาษีนิติบุคคลเพื่อดึงให้เอกชนกลับไปตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ เรียกง่ายๆก็คือ สหรัฐฯจะดึงทุกสิ่งทุกอย่างกลับไปที่สหรัฐฯหมด สหรัฐฯจะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ผลิตเอง ซื้อกันเอง ขายกันเอง กินกันเอง ฟังเหมือนสังคมในอุดมคติ แบบที่อดีตรัฐบาลเขมรแดงของนายพลพต เคยพยายามนำมาใช้ปกครองประเทศในยุคหนึ่งล่ะครับก่อนที่จะจบลงด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเขมรไปเกือบ 2 ล้านคนภายใน 4 ปี

แต่กระนั้น สิ่งที่ นาย ทรัมป์ต้องไม่ลืม ก็คือว่า แล้วสินค้าสหรัฐฯจะไปขายแข่งกับใครได้ ถ้าไปผลิตในสหรัฐฯเสียหมด ค่าแรงในสหรัฐฯไม่ใช่ถูกๆ ต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯก็สูงกว่าชาวบ้านเขาไม่รู้กี่เท่า ศักยภาพการแข่งขันของสินค้าสหรัฐฯจะยิ่งดิ่งลงแล้วลงอีกครับ

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ทำให้ดัชนีเงินเฟ้อในสหรัฐฯพุ่งสูงขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯก็ต้องยิ่งปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ทันเงินเฟ้อ แน่นอนก็จะยิ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเพราะกระแสทุนจะยิ่งไหลกลับเข้าสู่สหรัฐฯมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ

ดังนั้น จึงไม่อยากจะคิดว่า หลังจากนั้น เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเป็นอย่างไร เงินเฟ้อในสหรัฐฯจะพุ่งสูงขึ้น เงินดอลลาร์ก็จะแข็งค่ามากขึ้น ฟังดูแล้วน่าจะดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เพราะนั่นจะช่วยเป็นการเพิ่มพลังซื้อของผู้บริโภคสหรัฐฯได้มากขึ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ในท้ายที่สุดแล้ว สหรัฐฯเองก็จะขายสินค้าไม่ได้ เพราะต้นทุนการผลิตมีราคาแพงเกินไป ขายแข่งกับใครเขาไม่ได้

นักเศรษฐศาสตร์ในต่างประเทศหลายคนจึงมองว่า ถ้า นายทรัมป์ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจตามอย่างที่พูดจริง ก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะStagflation ภายใน 2 ปีหลังจากนี้ครับ

สภาวะ Stagflation นั่นก็คือ สภาวะที่เกิดเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากมาตรการจากภาครัฐ แต่ทว่าเศรษฐกิจในภาคจริงกลับไม่เติบโตเท่าที่ควรนัก เพราะปัญหาการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั่นเอง ที่จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐฯในอนาคต

หากถามว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯเคยแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์ทำให้อ่อนลงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าเคยมาแล้วทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2010 ที่สหรัฐฯเคยทำมาตรการคิวอีครั้งที่ 2 ที่ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงไปมาก และถ้าถามว่า สหรัฐฯมีโอกาสจะแทรกแซงค่าเงินอีกหรือไม่ ถ้าถึงคราวจำเป็น เพื่อทำให้ดอลลาร์อ่อนลง...

ก็ต้องตอบว่า มีสิทธิเกิดได้ทั้งนั้น ทีพีพี ทรัมป์ก็ฉีกมาแล้ว นาฟต้าที่ใช้มาเป็นสิบๆปีอยู่ๆสหรัฐฯ ก็ขอยกขึ้นปัดฝุ่นเจรจาใหม่กันแล้ว ไม่มีอะไรที่ โดนัลด์ทรัมป์ ไม่กล้าทำครับ ..!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,236 วันที่ 16 - 18 กุมภาพันธ์ 2560