ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (2)

16 ก.พ. 2560 | 06:55 น.
การเดินทางตลุยทางหลวงไตรภาคีของผมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่หน่วยกล้าตายร่วมเดินทางไปด้วยอีก 2 คน รวมทั้งผมก็เป็น 3 คน เป็นข้าราชการชายทั้งหมด ซึ่งทีแรกก็ไม่คิดว่าจะมีปัญหาอะไรเพราะพวกเราถือหนังสือเดินทางราชการกันทุกคน การถือหนังสือเดินทางราชการ (Official Passport) ทำให้พวกเราได้รับสิทธิพิเศษสามารถเดินทางเข้าประเทศเมียนมาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้าและอยู่ในประเทศเมียนมาได้ครั้งละไม่เกิน 30 วันซึ่งก็เพียงพอเพราะเรากำหนดเดินทางครั้งนี้ไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าเป็นคนไทยที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา (Ordinary Passport) ก็สามารถเดินทางเข้าเมียนมาได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าล่วงหน้าเช่นกัน แต่จะอยู่ในเมียนมาได้ไม่เกิน 14 วัน และต้องเดินทางเข้าเมียนมาโดยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติของเมียนมาเท่านั้น

ในขณะที่กำลังเตรียมตัวเดินทางอย่างสบายใจและเหลือเวลาอีกไม่กี่วันที่จะออกเดินทาง พวกเราก็ได้รับข่าวร้ายจากผู้ประสานงานฝั่งเมียนมาแจ้งมาว่าการเดินทางของพวกเราไม่ใช่การเดินทางแบบปกติเหมือนนักท่องเที่ยวคนไทยทั่วไป แต่การเดินทางของพวกเราจะผ่านเข้าไปประเทศที่ 3 คือ อินเดีย และด่านที่จะผ่านออกไปคือ ด่านเมืองทามู (เมียนมา)-เมืองมอร์เร่ห์ (อินเดีย) ไม่ได้เป็นด่านสากล รัฐบาลเมียนมาจะไม่อนุญาตให้บุคคลชาติที่สามผ่านออกไป ถ้าจะเดินทางผ่านด่านนี้ออกไปอินเดีย พวกเราในฐานะเป็นบุคคลชาติที่ 3 จะต้องไปยื่นขอวีซ่าจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยก่อนโดยไม่สนใจว่าเราจะถือหนังสือเดินทางราชการหรือไม่ และยังต้องมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึงรัฐบาลกลางเมียนมาเพื่อขออนุญาตผ่านเข้าไปประเทศอินเดียด้วย

เจอสถานการณ์งานเข้าแบบนี้ก็มึนตึ้บละครับ แต่พวกเราก็ไม่ท้อถอยรีบประสานสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยและก็ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่ง ทางสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เร่งออกวีซ่าให้พวกเราได้ทันเวลาแบบหวุดหวิด เป็นวีซ่าประเภท B ซึ่งน่าจะหมายถึงวีซ่าประเภทธุรกิจ สามารถอยู่ในเมียนมาได้ 70 วัน แต่ไม่ฟรีนะครับ พวกเราต้องจ่ายค่าวีซ่าไปคนละ 1,440 บาท

ส่วนหนังสือขออนุญาตผ่านแดนเข้าไปประเทศอินเดียก็ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ช่วยประสานกับรัฐบาลกลางเมียนมาให้แต่ยังไม่ทราบผลว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่ แต่พวกเรารอไม่ได้ เมื่อได้รับการประทับตราวีซ่าเข้าประเทศเมียนมาแล้วก็ออกเดินทางเลยทันที ส่วนหนังสืออนุญาตผ่านแดนไปอินเดียจากรัฐบาลกลางเมียนมาก็ไปลุ้นเอาข้างหน้าระหว่างทาง

เมื่อทุกอย่างพร้อม พวกเราก็ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมืองบินไปลงที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อนั่งรถข้ามไปจังหวัดเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยงของเมียนมา ทั้งนี้ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ถือได้ว่าเป็นประตูการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทยกับเมียนมา โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา การค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรแม่สอดมีมูลค่าสูงถึง 84,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 17% โดยไทยส่งออกไปเมียนมา 80,629 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.86% และนำเข้า 3,977.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จึงเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญของไทยไปยังเมียนมาโดยสินค้าจะถูกขนส่งผ่านเข้าไปที่ฝั่งตรงข้ามที่จังหวัดเมียวดี ในรัฐกะเหรี่ยง และถูกกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของเมียนมา

การเดินทางในครั้งนี้ เราจำเป็นต้องใช้บริการรถเช่าของเมียนมาและโชคดีมากที่เราเลือกใช้บริษัทนี้เพราะดูแล้วท่าทางจะมีอิทธิพลไม่เบา มั่นใจว่าจะพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ รถที่จัดมาให้ก็เป็นรถ Land Cruiser ขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างดี คนขับรถเป็นคนเชื้อสายพม่า ทราบภายหลังว่าเป็นลูกชายเจ้าของบริษัทซึ่งค่อนข้างจะมีอิทธิพลในเมียนมา แถมยังได้คนนำทางเป็นคนไทยใหญ่ที่พูดภาษาไทยได้ 100% คล่องแคล่ว รู้งาน และรู้ทาง คนนำทางของเรามีชื่อไทยว่า “แสง” ข้ามมารับพวกเราที่ฝั่งไทยและพาข้ามไปฝั่งเมียวดี ใช้เวลาไม่นานพวกเราก็ผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยและพร้อมเดินทางทันที

[caption id="attachment_129024" align="aligncenter" width="503"] ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (2) ตะลุยทางหลวงไตรภาคี อินเดีย-เมียนมา-ไทย (2)[/caption]

เราออกเดินทางจากตัวจังหวัดเมียวดีซึ่งคึกคักด้วยผู้คนที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อสินค้าไทยตามร้านค้าที่เป็นตึกแถว และยังได้เห็นบรรยากาศของการขนถ่ายสินค้าไทยที่ข้ามจากฝั่งอำเภอแม่สอดนำไปเก็บไว้ตามโกดังสินค้า และที่ถูกขนส่งต่อไปยังพื้นที่ต่างๆของเมียนมา เห็นได้เลยว่าสินค้าไทยได้รับความนิยมจากชาวเมียนมาเป็นอย่างมาก ดูๆแล้วมูลค่าการค้าชายแดนจริงๆน่าจะสูงกว่าตัวเลขทางการอีกหลายเท่าตัวเลย

เราออกเดินทางจากเมียวดีมุ่งหน้าไปเมืองเมาะละแหม่ง (หรือเมาะลำไย) ระยะทางประมาณ 174กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางราว 4 ชั่วโมง โดยถนนสายดังกล่าวเป็นถนนสายสำคัญภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East–West Economic Corridor : EWEC) หรือถนนหมายเลข 9 (R9) เชื่อมโยงทะเลจีนใต้ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยในช่วงแรกเส้นทางสายเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี จะเป็นถนนลาดยาง 2 ช่องจราจร เมื่อขับจากด่านศุลกากรเมียวดีออกมาประมาณ 8 กิโลเมตร จะพบกับเขตการค้าเมียวดี (Myawaddy Trade Zone) ซึ่งแยกออกเป็นเขตนำเข้าและเขตส่งออก โดยสินค้าที่ขนส่งมาจากไทยจะต้องมาเปลี่ยนถ่ายสินค้าเป็นรถบรรทุกของเมียนมาในบริเวณเขตนำเข้าแห่งนี้

สภาพถนนที่เราเห็นอยู่เบื้องหน้านี่ช่างเหลือเชื่อจริงๆ เรียบลัดเลาะไปตามเชิงเขาตะนาวศรี วิวทิวทัศน์ที่เห็นก็งดงามมาก นึกไม่ถึงเลยว่ากำลังนั่งรถอยู่ในเมียนมา จะเหลือเชื่อขนาดไหน เดี๋ยวมาว่ากันต่อคราวหน้าครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,234 วันที่ 9 - 11 กุมภาพันธ์ 2560