แผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

23 ม.ค. 2560 | 00:00 น.
คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ได้มีมติรับทราบแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางหมวด 1 และ หมวด 4 และการปฏิรูปเส้นทางการให้บริการซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาจากการมีมติในช่วงปลายปีที่ผ่านมายกเลิกมติครม.ที่ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) ได้รับใบอนุญาตประกอบการแต่เพียงผู้เดียว

ประเด็นสำคัญหลักของแผนปฏิรูปประกอบไปด้วย 1) การปรับเปลี่ยนระบบการจัดสรรเส้นทางการเดินรถ 2) การจัดตั้งองค์กรเพื่อกำกับดูแลการบริหารจัดการการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 3) การเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ 4) การพัฒนาการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ และ 5) การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนแนวทางแผนแม่บทพัฒนาระบบโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ในอดีตหรือในการปฏิบัติที่ผ่านมาถึงแม้ทางกฎหมายโดยขบ.เป็นผู้กำกับดูแลการให้บริการรถเมล์ แต่ในทางปฏิบัตินั้นเนื่องจาก ขสมก.เป็นผู้ออกสัญญาการเดินรถร่วมบริการให้กับผู้ประกอบการดังนั้น ขสมก. จึงเป็นผู้ให้บริการ และผู้กำกับดูแลพร้อมๆกัน ภายใต้โครงสร้างใหม่ ขสมก. จะมีบทบาทคงเหลือเพียงแต่การเป็นผู้ให้บริการ เช่นเดียวกับการบินไทยที่มีหน้าที่ให้บริการแต่ไม่ต้องมาคอยกำกับดูแลสายการบินอื่นๆในเส้นทางในประเทศ

กรมการขนส่งทางบกจะมีหน้าที่และจำเป็นต้องคอยวางแผนโครงข่าย ตรวจสอบการให้บริการ และ การดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบการ และใบอนุญาตการให้บริการบนเส้นทางต่างๆ ถือว่ามีอำนาจโดยเบ็ดเสร็จในการกำกับดูแลทั้งในเชิงมาตรฐานการให้บริการ โครงข่ายการให้บริการ และโครงสร้างอุตสาหกรรม ขสมก. ก็ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการภายใต้การกำกับดูแลของกรมการขนส่งทางบก

ประเด็นที่เกี่ยวพันในเรื่ององค์กรเพื่อกำกับดูแลคือในระยะถัดไปอาจมีความจำเป็นที่ต้องตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาโดยมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานท้องถิ่น (กทม. และ ปริมณฑล) และหน่วยงานกลาง (กรมการขนส่งทางบก) เพื่อดำเนินการกำกับดูแล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการให้บริการรถประจำทาง ในปัจจุบัน กทม. และปริมณฑล เป็นผู้ดูแลป้ายรถเมล์ และพื้นผิวจราจร หากจะยกระดับการให้บริการรถเมล์ต้องปรับปรุงทั้ง 2 ส่วนจึงต้องมีโครงสร้างที่รองรับ

ในส่วนของโครงข่ายนั้นกลไกหลักที่สำคัญกว่าเส้นทางที่ได้ถูกกำหนดใหม่คือ กลไกในการปรับปรุงโครงข่ายอย่างยืดหยุ่นเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในการเดินทาง และการปรับเปลี่ยนสภาพของเมือง โครงข่ายหรือเส้นทางรถเมล์ในปัจจุบันมีลักษณะที่ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนอย่างตลอดเวลา

ยกตัวอย่างกรณีรถไฟฟ้าสายสีต่างๆที่เริ่มทยอยเปิดให้บริการจะเห็นว่าการปรับเปลี่ยนเส้นทางให้บริการให้สอดคล้องกับการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันท่วงที ในแผนการปฏิรูปรถเมล์ได้มีการระบุความจำเป็น และกระบวนการในการปรับเปลี่ยนเส้นทางการให้บริการอย่างทันท่วงที และสอดคล้องกับระดับการเดินทาง เพื่อสร้างโครงสร้างอุตสาหกรรมที่ผู้ประกอบการรถเมล์สามารถมีรายได้ตามระดับที่เหมาะสม มิฉะนั้นแล้วจะเกิดปัญหาที่เหมือนในปัจจุบันที่ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาขาดทุนจากการให้บริการ และต้องหันมาพึ่งการลดต้นทุนการให้บริการ หรือกระจายความเสี่ยงในรูปแบบต่างๆ เช่นโอนถ่ายความเสี่ยงไปยังผู้ขับในรูปแบบต่างๆ และไม่ได้มีการบริหารการให้บริการในรูปแบบองค์กรจริงๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,229 วันที่ 22 - 25 มกราคม 2560