นายกฯหลังเลือกตั้ง 'พล.อ.ประยุทธ์'ไม่หมู!!!

18 ม.ค. 2560 | 10:30 น.
น่าจะเรียกได้ว่าเป็น "นายกรัฐมนตรี" ที่ประชาชนนิยมชมชอบมากที่สุด เพราะไม่ว่าจะกี่โพลล์ประชาชนเชียร์สุดๆ หรือจะเอากันให้ชัดๆ อย่างการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 16 ล้านเสียงนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด แต่เป็นเพราะต้องการเชียร์ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นั่นเอง

นายกรัฐมนตรีก่อนหน้าพล.อ.ประยุทธ์ที่เคยได้รับความนิยมมาอย่าง "พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์" ประธานองคมนตรี หรือ "ทักษิณ ชินวัตร" ที่เคยกระแสสูงยิ่งในช่วงต้นของการเป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังได้รับแรงเชียร์ไม่เท่ากับ "พล.อ.ประยุทธ์" ในตอนนี้

สาเหตุหลักๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ "พล.อ.เปรม" แล้ว ด้านฝีไม้ลายมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติและความซื่อสัตย์สุจริต ไม่น่าจะแตกต่างกันเพราะก่อนหน้าที่ทั้ง 2 ท่านจะขึ้นเป็น"นายกรัฐมนตรี" นั้นประเทศชาติบ้านเมืองอยู่ในสภาวะแตกแยกกันอย่างรุนแรงเหมือนๆ กัน เพียงแต่สมัยของ "พล.อ.เปรม" ยังเป็นยุคที่การสื่อสารยังไม่รวดเร็วเชื่อมโยงกันอย่างปัจจุบันนี้ การแสดงออกของประชาชน จึงจำกัดอยู่ในวงแคบๆ

ส่วน "ทักษิณ ชินวัตร" นั้น คงไม่ต้องพูดถึงเพราะเมื่อเอาฝีไม้ลายมือในการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติมา "หักกลบ" กับ "การทุจริตเชิงนโยบาย" แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าประชาชนก็นิยมชมชอบในช่วงระยะแรกของการเป็น"นายกรัฐมนตรี"เท่านั้น เมื่อต่อมาความจริงและหลักฐานต่างๆ ในการทุจริตปรากฏขึ้นความนิยมก็ลดลง แต่ก็ถือว่ายังสูงอยู่ เพราะยังเรียกความศรัทธาผ่านคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคการเมืองของตัวเองชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง

แต่ในขณะที่อีกด้านหนึ่งนั้น "ทักษิณ ชินวัตร" ก็คือชนวนความขัดแย้งหลักของสังคมไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งที่นำไปสู่การแบ่งแยกเป็นสีเป็นฝ่าย มีการประท้วงวุ่นวายรุนแรง และท้ายที่สุดจนถึงขั้นมีกองกำลังติดอาวุธทำให้บ้านเมืองไม่สามารถเดินไปตามภาวะปกติได้ เป็นปัญหากับ "ภาคธุรกิจเอกชน" และส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่และความขัดแย้งดังกล่าว ก็ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงได้ จนเชื่อกันว่าสุดท้ายที่ปลายทางคือจะต้องเกิด "สงครามกลางเมือง"

MP-14-3228-a ทันทีที่ "กองทัพ" ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. นำโดย "พล.อ.ประยุทธ์" เข้าทำการยึดอำนาจ และได้แสดงศักยภาพให้เห็นว่า "เอาอยู่" ทำให้ความแตกแยกวุ่นวายที่เกิดขึ้นกลับสู่ความสงบเรียบร้อยได้ การเทใจให้ของประชาชนจึงเกิดขึ้น และเมื่อได้โชว์ฝีมือในการบริหารประเทศก็ได้แสดงให้เห็นได้ว่ามี "สติปัญญา" ที่จะนำพาประเทศไปได้ อย่างมียุทธศาสตร์ และที่สำคัญได้แสดงให้เห็นอย่างประจักษ์ในเรื่อง "ความซื่อสัตย์สุจริต" ทำให้ประชาชนเอาไปเปรียบเทียบกับบรรดานักเลือกตั้งทั้งหลาย กระแสความนิยมของ "พล.อ.ประยุทธ์" จึงยิ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ความเห็นของประชาชนผ่านโพลล์ต่างๆ นั้น จะเห็นได้ว่าอยากจะเชียร์ให้ "พลเอกประยุทธ์" เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังการเลือกตั้ง แต่เอาเข้าจริงๆแล้วไม่น่าจะเป็นได้ง่ายๆ เพราะแม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติจะกำหนดให้มี "วุฒิสมาชิก" ถึง 250 เสียง เพื่อไปถ่วงดุล ส.ส.ที่มีอยู่ 500 เสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ข้อเท็จจริงของผลการเลือกตั้งนั้น จากระบบอุปถัมภ์และการวางเครือข่ายหัวคะแนนแน่นอนว่าพรรคการเมืองใหญ่ทั้ง 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าจะมีเสียง ส.ส.ในสภา รวมกันไม่ต่ำกว่า 350 เสียง ซึ่งนั่นหมายความว่าแม้ "วุฒิสมาชิก" ร่วมกับพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะโหวตให้ "พล.อ.ประยุทธ์" เป็น "นายกรัฐมนตรี" แต่ก็ไม่สามารถที่จะบริหารราชการแผ่นดินได้ เพราะจะถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและรัฐบาลก็จะมีอันเป็นไปทันที

ดังนั้นแม้ "พล.อ.ประยุทธ์" จะได้รับแรงเชียร์จากประชาชนแต่เงื่อนไขของ "รัฐธรรมนูญ" และกลไกการเลือกตั้งที่มีมาอย่างยาวนานจนทำให้ "พรรคการเมือง" สร้างอิทธิพลในระบบอุปถัมภ์และการซื้อเสียงได้อย่างเป็นระบบ ก็ไม่น่าจะทำให้ "พล.อประยุทธ์" ขึ้นสู่ตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" หลังเลือกตั้งได้อย่างง่ายๆ เว้นแต่ว่า พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งใน 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย หรือ พรรคประชาธิปัตย์" เสนอชื่อและโหวตให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ซึ่งฝากฝั่งพรรคเพื่อไทยนั้นปิดประตูตายไปได้เลย เพราะวันนี้ได้แสดงออกแล้วว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกันอย่างชัดเจน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็น่าจะเป็นเรื่องยาก หาก "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ยังเป็น "หัวหน้าพรรค" อยู่ เพราะได้แสดงท่าทีโดยเปิดเผยมาโดยตลอดว่า "ยึดมั่น" ใน "ระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านการเลือกตั้ง" เพราะแม้แต่ "การลงประชามติ" ที่ผ่านมา ก็ได้แสดงท่าทีโดยเปิดเผยว่า "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้นความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอชื่อและโหวตให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ก็ต้องจับตาว่าจะมี "การเปลี่ยนหัวหน้าพรรค" หรือไม่? เมื่อ"อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หมดวาระลงในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้

ส่วนอีกทางก็คือ "พล.อ.ประยุทธ์" ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง ซึ่งก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะนั่นหมายความว่าจะต้องฝ่าฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ไปให้ได้ และผลการเลือกตั้งจะต้องได้ 100 ที่นั่งขึ้นไป อันจะส่งผลให้ไปแบ่งที่นั่ง ส.ส.ของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ให้รวมกันแล้วได้ไม่ถึง 250 ที่นั่ง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องง่ายๆ แต่จะทำให้การนั่งในตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" เป็นไปด้วยความสง่างามและไม่ถูกพรรคการเมืองบีบคั้นจนบริหารประเทศไม่ได้ เหมือนเช่นเคยเกิดขึ้นกับ "พล.อ.เปรม" ในช่วงปลายของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ต้องดูกันอีกทีหลังกฎหมาย"พรรคการเมือง"ประกาศใช้ อะไรก็คงชัดเจนขึ้น!!!!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560