ทรัมป์ตั้งลูกเขยเป็นที่ปรึกษา คำว่า Nepotism ถูกกลับมาพูดถึง

18 ม.ค. 2560 | 10:45 น.
ก่อนการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในแง่ของการที่จะดูว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งหรือไม่ มี 2 คำ คือคำว่า cronyism คือการเล่นพรรคเล่นพวก อีกคำคือ nepotism หรือการเอื้อประโยชน์ต่อวงศาคณาญาติ ดังนั้นในกรณีของนายจาเร็ด คุชเนอร์เป็นลูกเขย จึงถูกกล่าวหาว่า nepotism ซึ่งลูกเขยทำธุรกิจอยู่ ในตัวประธานาธิบดีเองคงไม่มีปัญหาอะไร ตัวคุชเนอร์เองอาจจะเป็นปัญหาได้ จึงถูกโจมตีทันทีที่ตั้งลูกเขยขึ้นมา แต่คำว่าเอื้อประโยชน์ ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่มีวิธีการว่าทำอย่างไรที่จะไม่เกิดผลประโยชน์ขัดแย้งกัน คือเขาจำเป็นจะต้องลาออกจากตำแหน่งบริหารที่มีอยู่ ต้องเอาหุ้นที่ถือครองเข้าสู่กระบวนการ blind trust ให้มีองค์กรนิติบุคคลเข้ามาช่วยบริหารกลุ่มหุ้นที่ถือไว้แทน โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการซื้อขายหุ้นเหล่านั้นเลย ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะกำจัดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการขัดผลประโยชน์

การที่ทรัมป์ แต่งตั้งคุชเนอร์ ผมคิดว่าเกิดจากลูกเขยได้อุทิศตัวช่วยเขาหาเสียงจนได้รับเลือกตั้ง หนึ่งเป็นเรื่องของการตอบแทน และ 2.เป็นการเชื่อความสามารถว่าลูกเขยเก่ง และเป็นตัวเชื่อมระหว่างทรัมป์และที่ปรึกษาทั้งหลายได้ในการประชุมที่ปรึกษา การเป็นที่ปรึกษาไม่ได้มีเฉพาะคุชเนอร์ แต่มีคณะที่ปรึกษาหลายคณะ เขาจะได้รับมอบหมายในการประชุมที่ปรึกษาระดับต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ตามที่จำเป็น ทำหน้าที่คอยรายงานข้อเท็จจริง ข้อเสนอแนะจากกรรมการและเป็นผู้รายงานที่เชื่อถือได้ ไม่มีการบิดเบือนข้อมูลและช่วยทรัมป์ได้อย่างเต็มที่

MP-07-3228-a ผมว่าเป็นแนวทางที่แม้จะดูเหมือนไม่เหมาะสม แต่ที่ทรัมป์กล้าตั้งคุชเนอร์เป็นการแสดงชัดเจนว่าเขาไม่กลัวคำครหานินทา ไม่กลัวว่าลูกเขยจะทำอะไรผิด ชูขึ้นมาให้ชัดเจนว่าคุณมีสิทธิ์ตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่ามีการทำผิดหรือไม่ มีสิทธิ์จะบอกว่าเมื่อมาเป็นที่ปรึกษาแล้วควรทำตัวอย่างไรให้เหมาะสม ดังนั้นแทนที่จะเก็บเอาไว้ข้างหลังคอยแอบปรึกษาและเอื้อประโยชน์ให้ลับๆ กลับเป็นสิ่งที่ผมชมเชยที่เขากล้าตั้งและทำตามกฎกติกาทุกอย่าง ให้ตรวจสอบซักถามได้ตลอดเวลาว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งหรือไม่ หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและครอบครัวหรือไม่ ถ้ามองในมุมกลับกันสิ่งเหล่านี้คือความกล้าหาญของทรัมป์ อย่างในกรณีของเกาหลีใต้ ประธานาธิบดีถูกสอบสวนเพื่อถอดถอนก็เกิดจากการเอื้อประโยชน์ให้เพื่อนในการทำงานบริจาคให้องค์กรต่างๆ ตามที่เพื่อนขอร้อง ผมว่าอันนี้ต่างหากที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง เมื่อพบว่าผิดเมื่อไหร่ประธานาธิบดีจะอยู่ไม่ได้

ส่วนกรณีคุชเนอร์อายุเพียง 35 ปี น้อยไปหรือไม่สำหรับการเป็นที่ปรึกษา ผมคิดว่างานที่ปรึกษา แล้วแต่ว่าผู้ที่ตั้งขึ้นมาต้องการอะไรจากที่ปรึกษา อย่างในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ท่านตั้งทีมที่ปรึกษาเป็นทีมหนุ่มอายุ 30 กว่าๆ ทั้งนั้น กำลังไฟแรง จบจากต่างประเทศ และมาให้คำปรึกษาต่างๆ จนกระทั่งบัดนี้ยังมีคุณพันศักดิ์ วิญญรัตน์ที่เคยเป็นที่ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนที่เก่งคนหนึ่งและมาเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีอีกหลายสมัย ฉะนั้นการตั้งที่ปรึกษาหนุ่ม แต่มีปัญญา มีความคิดก้าวหน้า มีความคิดที่จะแก้ปัญหาของประเทศได้ถูกวิธีไม่ใช่เรื่องแปลก

ในสหรัฐฯ ก็เคยตั้งนักวิชาการหนุ่ม นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงที่อายุ30 กว่าถึง 40 ปีมาเป็นที่ ปรึกษาเป็นเรื่องปกติที่ต้องมีนักวิชาการมาชี้ว่านโยบายเศรษฐกิจควรเป็นอย่างไร เป็นต้น จอห์น เอฟ เคนเนดี้ยังเคยตั้งน้องชายเป็นอัยการสูงสุด การตั้งลูกเขยมีข้อครหาเพียงเขาเป็นนักธุรกิจ เมื่อเป็นนักธุรกิจต้องเคลียร์ตัวเองออกจากธุรกิจที่ทำอยู่เสียก่อน จึงจะมาปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือขัดแย้งเท่านั้นเอง

ดังนั้นข้อครหาคือเขาเป็นนักธุรกิจ เขาต้องการผลประโยชน์จากธุรกิจหรือไม่ แต่ถ้าเขาพร้อมจะมาทำก็ต้องพร้อมพิสูจน์และถูกสอบได้ตลอดเวลา ผมจึงไม่คิดว่ามีอะไรน่ากลัว ผมกลับชมเชยทรัมป์ที่กล้าตั้งลูกเขย หรืออาจจะเป็นลูกสาวในอนาคต ตราบใดที่เขาจริงใจและไม่ได้ทำอะไรทุจริต

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,228 วันที่ 19 - 21 มกราคม 2560